วันที่ 11 มกราคม 2565 ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและส่งเสริมอนุญาโตตุลาการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและการระงับข้อพิพาททางเลือก ทั้งการไกล่เกลี่ยและการอนุญาโตตุลาการ เพิ่มประสิทธิภาพของการระงับข้อพิพาทเป็นทางเลือกในการส่งเสริมงานด้านวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศให้ได้มาตรฐานสากล โดยมีนายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และ ดร.วรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ร่วมลงนามทั้งสองฝ่าย
โดย นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ย หรือการอนุญาโตตุลาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้ความคิดเห็นในการพัฒนา ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานทั้งสอง ประเด็นที่สอง สถาบันอนุญาโตตุลาการ วศ.ร่วมกันสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ด้านการอนุญาโตตุลาการ และการระงับข้อพิพาททางเลือกด้านอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถเลือกใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสมกับข้อพิพาทของตน และประเด็นที่สาม สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ วศ. ร่วมกันพัฒนาอนุญาโตตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญในข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งให้ข้อมูลให้คำปรึกษา และความเห็นเพื่อพัฒนาหน่วยงานทั้งสอง และสนับสนุนกระบวนการด้านการอนุญาโตตุลาการและการระงับข้อพิพาททางเลือก
ด้าน ดร.วรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอนุญาโตตุลาการ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีโอกาสร่วมลงนามข้อตกลงกับ วศ. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลคำปรึกษาแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่อาจมีข้อพิพาทหรือมีความเกี่ยวข้องกับการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ยั่งยืนการพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการทั้งในส่วนแนวคิดและทางทฤษฏีตลอดจนแนวทางปฏิบัติการบังคับใช้กฏหมายให้มีความสอดคล้องตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ