กรมควบคุมโรค เตือน 10 เมนูควรระวังช่วงหน้าร้อน เสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือน 10 เมนูที่ควรระวังในช่วงหน้าร้อน เสี่ยงป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

วันที่ (6 มีนาคม 2562) นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ ในช่วงนี้จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–24 กุมภาพันธ์ 2562 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 17,651 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 15–24 ปี รองลงมา คือ 25–34 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี ตราด ลำพูน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ตามลำดับ

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไป โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพิษของเชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิฯ ที่มากับอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นาน ไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นก่อน ประกอบกับในช่วงนี้อากาศที่ร้อนทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มมากขึ้น สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1) ลาบ/ก้อยดิบ 2) ยำกุ้งเต้น 3) ยำหอยแครง/ยำทะเล 4) ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5) อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด  6) ขนมจีน 7) ข้าวมันไก่  8) ส้มตำ 9) สลัดผักที่มีธัญพืช และ 10) น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ควรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน

สำหรับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อน-หลังการเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย อาการของโรคคือ พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้งกระหายนํ้า และอาจมีไข้ร่วมด้วย เป็นต้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์  สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

***********************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค