กรมควบคุมโรค ย้ำมาตรการ Covid Free Setting ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด หลังพบคลัสเตอร์ใหม่หลายจังหวัดท่องเที่ยว
วันที่ 11 มกราคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ประจำวัน และการป้องกันควบคุมโรคโควิดว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คน หากมีกิจกรรมร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อจะเกิดการแพร่กระจายของโรคมากขึ้น จากการติดตามข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชาชนพบว่า ภาพรวมของประเทศช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 มีการเคลื่อนที่ค่อนข้างมาก แทบจะสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่กระจายได้รวดเร็ว ซึ่งจังหวัดชลบุรีที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นนั้น มีการเดินทางในช่วงปีใหม่มากกว่าปี 2563 โดยยอดผู้ติดเชื้อในวันที่ 10 มกราคม 2565 จำนวน 767 ราย เมื่อตรวจเชิงรุกจึงเจอคลัสเตอร์ (Cluster) อีกหลายกลุ่ม เช่น พื้นที่พัทยา อ.บางละมุง 37 ราย พื้นที่บางแสน หาดวอนนภา อ.เมืองชลบุรี 19 ราย รวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมากในช่วงปีใหม่ ก็พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์เช่นกัน จนต้องปิดร้านอาหารจำนวน 23 แห่ง ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าติดเชื้อโควิด 19 ให้รีบตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพราะปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อที่สำคัญ มาจากการสัมผัสกันภายในครอบครัว หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในบ้านและที่ทำงาน ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจได้รับเชื้อมาจากสถานที่ระบาดและแพร่กระจายเชื้อสู่คนใกล้ตัว จึงต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการดูแลตนเองขั้นสูงสุด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และไม่ไปสถานที่เสี่ยง
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า มาตรการ Covid Free Setting ยังเป็นเรื่องที่ต้องเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ โดยเฉพาะร้านอาหาร ส่วนสถานประกอบการควรจัดให้ Work From Home และตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์ สำหรับโรงงานหากพบผู้ติดเชื้อให้ทำ Bubble & Seal แยกผู้ติดเชื้อออก แต่ไม่ต้องหยุดทำงาน เพราะการปิดสถานประกอบการจะทำให้คนเคลื่อนย้าย อาจแพร่กระจายเชื้อออกไปได้ อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการติดต่อให้เข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งกรมควบคุมโรคจะสนับสนุนการจัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัดอย่างเพียงพอ หากทุกคนร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
*******************************
ข้อมูลจาก : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 มกราคม 2565