สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เตรียมเปิดเวที “เปิดมุมมองและแนวโน้มเทคโนโลยีชีวมิติสู่การใช้งานจริง” เดินหน้าเร่งสร้างความเข้าใจ พร้อมตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างมาตรฐานการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ทั้ง 3 ฉบับ พร้อมกันวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ผ่านทางออนไลน์
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความพร้อมและเกิดการใช้งานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) ที่มีความมั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือในทุกบริการ คือหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ETDA เดินหน้าขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันด้านกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีกรอบหรือทิศทางในการเดินหน้าขับเคลื่อนการใช้งานดิจิทัลไอดีที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล ทั้งยังมีโครงการ ETDA Sandbox ที่จะทดสอบนวัตกรรมสร้างความเชื่อมั่นก่อนให้บริการจริง พร้อม ๆ กับสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนในการเฟ้นหานวัตกรรมที่จะเข้ามาปลดล็อกการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของคนไทยที่สอดคล้องกับความต้องการในการใช้งานและสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับดิจิทัลไอดี เพื่อให้คนไทยพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลในอนาคตผ่านแคมเปญ MeiD (มีไอดี) เป็นต้น
ในปัจจุบันนี้ การทำธุรกรรมทางออนไลน์เริ่มมีการใช้ดิจิทัลไอดีผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) หรือเทคโนโลยีในการจำแนกลักษณะหรืออัตลักษณ์ทางกายภาพของบุคคล เช่น ใบหน้า ลายนิ้วมือ ลายม่านตา ลายเส้นเลือด ลายเซ็น และเสียงพูด มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกันมากขึ้นและเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ETDA จึงได้เดินหน้าในการกำหนดมาตรฐานการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Standard) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ต้องการนำเทคโนโลยีชีวมิติไปประยุกต์ใช้งานในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำหรับภาคบริการประชาชน ได้มีแนวทางในการใช้งานและการบริหารจัดการอัตลักษณ์บุคคลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมีความมั่นคงปลอดภัย โปร่งใส เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานและมีความน่าเชื่อถือ ทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน, (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน, (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการทดสอบสมรรถนะการทำงานเทคโนโลยีชีวมิติ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ดังกล่าวผ่านการเวียนร่างและจัดกิจกรรม Public Hearing ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2564 โดยพบว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากและมีบางส่วนอยากให้ ETDA จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ เพิ่มเติม ดังนั้น ETDA จึงเดินหน้าจัดกิจกรรม Knowledge Sharing ในหัวข้อ “เปิดมุมมองและแนวโน้มเทคโนโลยีชีวมิติสู่การใช้งานจริง” นี้ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ พร้อมตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นการใช้เทคโนโลยีชีวมิติรวมถึง (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ทั้ง 3 ฉบับ
สำหรับกิจกรรม Knowledge Sharing จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก จะเป็นกิจกรรมแชร์ความรู้ในหัวข้อสำคัญ ๆ ได้แก่ “เทคโนโลยีชีวมิติ ปัจจุบันสู่อนาคต” ที่จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวมิติมากยิ่งขึ้น พร้อมอัพเดทความเคลื่อนไหว ข้อควรรู้ที่สำคัญ ๆ ผ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวมิติที่จะทำให้เรามองเห็นปัจจุบันและอนาคตของเทคโนโลยีชีวมิติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อด้วย “ส่องเทคโนโลยีชีวมิติ: ถอดบทเรียนการใช้งานจากต่างประเทศ” หัวข้อที่จะพาเราไปดูว่า แต่ละประเทศเขาใช้เทคโนโลยีชีวมิติถึงไหนกันแล้วและมีประเด็นไหนที่เราต้องเรียนรู้จากเขาและหัวข้อ “จะรู้ได้อย่างไรว่าระบบชีวมิติใช้ได้จริง” ผ่านข้อมูลตัวชี้วัดประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ในการบ่งชี้สมรรถนะระบบชีวมิติ จากนั้นมาต่อที่ ช่วงที่ 2 กับการเสวนาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ทั้ง 3 ฉบับ ในทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาของร่าง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ การบังคับใช้ ผลที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถซักถามได้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการที่อยู่เบื้องหลังของการพัฒนาร่างมาตรฐานคอยตอบทุกคำถาม ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็นอีกเวทีของการรับฟังความคิดเห็นรวมถึงข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนที่สนใจ เพื่อนำไปเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ทั้ง 3 ฉบับให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้องและครบถ้วนมากที่สุด ก่อนนำร่างเสนอต่อคณะทำงานจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีชีวมิติเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม“เปิดมุมมองและแนวโน้มเทคโนโลยีชีวมิติสู่การใช้งานจริง”ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. นี้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ลิงค์ https://bit.ly/3F1PXlz