วงถกคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ปี 2565 เห็นชอบ 3 มติสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 “การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อม-การคุ้มครองกลุ่มประชากรเฉพาะ-การจัดการสื่อสาร” พร้อมเดินหน้าเสนอ ครม. พิจารณา-มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ “รมช.สาธารณสุข” ลั่น กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการขับเคลื่อนมติฯ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ขณะที่ “สช.” ลุยสานพลังเครือข่ายพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช. สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 จำนวน 3 มติ ประกอบด้วย
1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19
2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม
3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ และรับทราบการกล่าวถ้อยแถลงร่วมขับเคลื่อนมติทั้งสามของผู้แทนหน่วยงาน เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกว่า 66 องค์กร โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนมติฯ ก่อนจะเสนอต่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบและแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และ 16 พ.ศ. 2565-2566 ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) คือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ความหวังและโอกาสอนาคตประเทศไทย” ซึ่งเปรียบได้กับวาระสุขภาพของประเทศประจำปี 2565-2566 ที่ คสช. และ สช. จะชักชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน
ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รมช. สธ. กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 3 มตินี้ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้กับประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤตสุขภาพในขณะนี้และอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และขอชื่นชมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม กว่า 66 แห่ง ที่ร่วมกันให้ถ้อยแถลงจะขับเคลื่อนมติฯ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือการสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นจริง และกระทรวงสาธารณสุขยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นจากงานสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
วันเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้รับทราบถึงโครงการความร่วมมือในการพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ของ สช. ซึ่งเป็นความร่วมมือผ่านโปรแกรม “การยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม” (Ending Pandemics through Innovation: EPI) ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมทางสังคม และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไปใช้ยุติผลกระทบจากโรคระบาดปัจจุบัน และป้องกันผลกระทบโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือของโปรแกรมการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรมดังกล่าว สช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 กิจกรรม ได้แก่
1. การพัฒนาต้นแบบชุมชนเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมโดยเครือเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ
2. พัฒนากลุ่มผู้มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีขีดความสามารถในการดูแลชุมชน
3. พัฒนากลไกเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้านการป้องกันและควบคุมโรค
“ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากแผนงานนี้ คือการใช้นวัตกรรมทางสังคมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงเกิดการขยายโมเดลชุมชนต้นแบบไปสู่ชุมชนอื่นๆ” นพ.ประทีป ระบุ
ในตอนท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบโครงการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2565-2569 ที่ สช. จะสนับสนุนแผนงานตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก หรือ WHO Country Cooperation Strategy (CCS) ฉบับปัจจุบัน ซึ่งจะดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2565-2569 ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่
1. แผนงานการแพทย์บนโลกดิจิทัลและระบบข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ (Digital Health)
2. แผนงานแรงงานข้ามชาติ (Migrant)
3. แผนงานโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
4. แผนงานความปลอดภัยทางถนน (Road Safety)
5. แผนงานภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Public Health Emergency)
6. แผนงานภาวะผู้นำด้านสุขภาพโลกของประเทศไทย (Enhancing Leadership in Global Health – Thailand: EnLIGHT)
สำหรับแผนงานดังกล่าว สช. จะสนับสนุนใน 2 ลักษณะ คือ การสนับสนุนงบประมาณในแผนงาน EnLIGHT เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยแสดงบทบาทด้านสุขภาพในเวทีระหว่างประเทศ และแสดงความรับผิดชอบด้านสุขภาพต่อประชาคมโลกในขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนการดำเนินงานของแผนงานต่างๆ ผ่านช่องทางนโยบายของ สช. ได้แก่ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพจังหวัด สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และธรรมนูญระบบสุขภาพในระดับต่างๆ เป็นต้น