กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตจัดการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ปรับปรุงโครงสร้างคณะอนุกรรมการฯ พร้อมเผยนโยบายสุขภาพจิตเชิงรุกลงสู่ระดับจังหวัดทั่วประเทศ
วันที่ 10 มกราคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตจัดการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในการประชุมพร้อมเผยแนวทางปรับคณะอนุกรรมการเพื่อรองรับมาตรการด้านสุขภาพจิตเชิงรุก และร่วมวางแผนและถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงาน ด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิตจนถึงระดับจังหวัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อลดปัจจัยที่สำคัญที่นำมาสู่อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยต่อไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ได้มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีการแพร่เชื้อได้เร็วและติดง่ายขึ้น แต่อาการน้อยและไม่รุนแรงนั้น หลังเทศกาลปีใหม่พบสัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เช่น ชลบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดเมืองรองต่าง ๆ ซึ่งแม้โควิดสายพันธุ์ Omicron มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เมื่อฐานจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากก็อาจจะมีโอกาสให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย กรมสุขภาพจิตและบุคลากรด้านสุขภาพจิตจึงมีบทบาทสำคัญเรื่องการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ที่มียังมีความลังเลในการเข้ารับการฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy) การวางแผนและถ่ายทอดแนวทาง การดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันและควบคุมปัจจัย ที่คุกคามสุขภาพจิต สนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากสถานการณ์ COVID-19 เข้าถึงบริการวิกฤติสุขภาพจิต และได้รับการดูแลทางสังคมอย่างครอบคลุม การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต การเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงถือเป็นการรักษาและเยียวยาสังคมที่มีความสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตจะต้องเร่งดำเนินการและประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งนับเป็นภารกิจที่มีความยากลำบากเพราะการเจ็บป่วยทางจิตใจนั้น การรักษาและการสังเกตต้องใช้ทักษะ อย่างสูง ซึ่งหากการเข้าถึงการช่วยเหลือไม่ทันท่วงทีก็จะนำมาซึ่งการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นอกจากวัคซีนทางร่างกายที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการฉีดให้ครอบคลุมให้มากที่สุดแล้ว ในส่วนของการส่งเสริมวัคซีนใจเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจ (Resilience) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในภาวะวิกฤติที่ยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้รวมทั้งมีการให้ความสำคัญกับการประเมินสุขภาพจิตในระบบติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต www.วัดใจ.com หรือ ระบบ Mental Health Check In ทั้งนี้ ผลการประเมินจะถูกส่งให้เครือข่ายงานสุขภาพจิต เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือต่อไป ณ วันที่ 9 มกราคม 2565 จากจำนวนผู้ตอบแบบประเมิน 2,579,026 ราย พบว่า เครียดสูง 216,098 ราย (8.38%) เสี่ยงซึมเศร้า 254,243 ราย (9.86 %) เสี่ยงฆ่าตัวตาย 140,939 ราย (5.46%) มีภาวะหมดไฟ 25,552 ราย (4.16%) ซึ่งทั้งหมดจะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้การฟื้นฟูสุขภาพจิต ในผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID-19 ที่หลังจากติดเชื้อแล้ว 3 เดือนยังคงมีอาการทั้งทางกายและจิตใจได้อยู่กว่าครึ่ง ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องได้รับการดูแล ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำมาสู่อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายการดูแลสุขภาพจิตประชาชน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในการประชุมครั้งนี้จึงมีวาระที่สำคัญนอกจากการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ในการการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจของบุคคล ครอบครัว และชุมชนแล้ว ยังมีเรื่องของการลดอัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่จากสถานการณ์ COVID-19 อีกด้วย
นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติให้มีการจัดทำหนังสือต่อประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติลงนามถึงกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขในการสนับสนุนคณะอนุกรรมการการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัด พร้อมทั้งติดตามการทำงานและให้ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขรายงานในการประชุมครั้งถัดไป
*************** 10 มกราคม 2565