กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เตือนผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือ หลังจีนได้เข้าไปลงทุนโรงงานแปรรูปมะม่วงในกัมพูชาตามหลังเกาหลีใต้ที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ เผยจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการส่งออกมะม่วงแปรรูปไปในประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นตลาดของไทย เหตุบางประเทศให้สิทธิพิเศษกับกัมพูชา แนะผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสู้ มั่นใจแข่งได้แน่
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น มหานครผลไม้ของโลก อีกทั้งได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ถึงการเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานแปรรูปและส่งออกมะม่วงของบริษัท Weighai Dragon Union Agriculture จำกัด จากจีน ในจังหวัดกัมปงสปือ กัมพูชา มีมูลค่าการลงทุน 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชา หลังจากที่บริษัท Hyundai Corporation จำกัด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีชื่อของเกาหลีใต้ได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัท Mao Lagacy ในการแปรรูปและส่งออกมะม่วง ก่อนหน้านี้
“บริษัทจากจีนและเกาหลีใต้ ที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา มีแผนที่จะเน้นการส่งออกมะม่วงแก้วขมิ้น โดยรับซื้อจากเกษตรกรมาแปรรูปและบรรจุหีบห่อและส่งออกไปยังตลาดจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเริ่มมีตลาดใหม่ๆ ที่ต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ยุโรป และรัสเซีย ซึ่งการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ส่งออกมะม่วงแปรรูปของไทยได้ เพราะบางตลาดให้สิทธิพิเศษกับกัมพูชา ซึ่งจะทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าไทยได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวังและติดตาม” นางจันทิรากล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ผู้ส่งออกของไทยจะต้องหาทางรับมือด้านวัตถุดิบมะม่วงแก้ว เพราะไทยเคยพึ่งพาวัตถุดิบจากกัมพูชา ก็ต้องหาทางปลูกหรือขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความได้เปรียบ และคู่ค้าให้การยอมรับ ซึ่งจะทำให้สินค้ามะม่วงแปรรูปของไทยยังคงเป็นที่ต้องการต่อไป
สำหรับการดึงดูดการลงทุนโรงงานแปรรูปมะม่วงของกัมพูชานั้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันให้มีการส่งออกพืชเศรษฐกิจสำคัญเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจเดิม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง โดยส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ เพื่อผลิตและส่งออก ซึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะพิจารณาเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในกัมพูชาด้วย โดยกรมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนและให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ จากสถิติการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทย (สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง) ไปยังตลาดโลก ปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 76,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2559 โดยตลาดหลักสินค้าผลไม้ของไทยได้แก่ อันดับ 1.เวียดนาม (สัดส่วน45%) 2.จีน (30%) 3.ฮ่องกง (8%) 4.อินโดนีเซีย (4%) 5.สหรัฐอเมริกา (3%)