สสส. เร่งสกัด 5 ปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่-ขาดกิจกรรมทางกาย-โภชนาการ-มลพิษทางอากาศ เตรียมเปิดตัวคัมภีร์สร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ หวังป้องกัน และลดเจ็บป่วย กลุ่มโรค NCDs ก่อนวัยอันควร
ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย (Burden of Disease Research Program Thailand :BOD Thailand) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (The International Health Policy Program, Thailand :IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า IHPP ร่วมกับ แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (WHO Country Cooperation Strategy on NCDs :WHO-CCS NCDs) กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ศึกษาสถานการณ์การตายก่อนวัยอันควรของประชากรไทย ช่วงอายุ 30-69 ปี จากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มโรคเบาหวาน และกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ระหว่างปี 2543-2561 และมีการพยากรณ์แนวโน้มโอกาสในการตายก่อนวัยอันควรในปี 2568 และ 2573 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ตามเป้าขององค์การอนามัยโลกต้องการลดการตายก่อนวัยอันควรในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ 4 กลุ่ม ให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2568 และลดลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) พบว่า แนวโน้มการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลดลงทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยเพศชายมีความน่าจะเป็นของการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิง
ทพญ.กนิษฐา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โอกาสในการตายก่อนวัยอันควรของ 4 กลุ่มโรค NCDs พบว่า ผลการดำเนินงานของประเทศไทยเท่าที่เป็นอยู่ อาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่ WHO และ SDGs วางไว้ เนื่องจากเป้าหมายของ WHO ในปี 2568 ต้องได้ร้อยละ 11.1 แต่ผลการพยากรณ์พบว่า ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 12.6 และเป้าหมายของ SDGs ในปี 2573 เท่ากับร้อยละ 9.9 แต่ผลการพยากรณ์อยู่ที่ร้อยละ 12 โดยข้อมูลการตายก่อนวัยอันควรกลุ่มโรคไม่ติดต่อของคนไทย ในปี 2561 พบว่า โรคไม่ติดต่อ 4 กลุ่มช่วงอายุ 30-69 ปี โรคมะเร็งมีสัดส่วนการตายก่อนวัยอันควรสูงสุด 56,965 คนต่อปี รองลงมาคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด 30,064 คนต่อปี เบาหวาน 9,205 คนต่อปี และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 4,699 คนต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ พบว่าเกินครึ่งหนึ่งของการตายก่อนวัยอันควรในกลุ่มอายุ 30-59 ปี มาจากมะเร็ง หรือประมาณร้อยละ 57 โรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณร้อยละ 27 โรคเบาหวานประมาณร้อยละ 13 และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังประมาณร้อยละ 3 นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มโรคมะเร็งและโรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญในจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาค่อนข้างสูงในจังหวัดแถบภาคกลาง และกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเป็นปัญหาทางภาคเหนือรวมถึงภาคกลางฝั่งตะวันตกอย่างชัดเจน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. โดยสำนักวิชาการและนวัตกรรม (สวน.)สนับสนุนแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 1.พัฒนาเชิงระบบของการจัดทำข้อมูลดัชนีภาระทางสุขภาพที่สำคัญ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์ในการประเมินสมรรถนะของระบบสุขภาพ การประเมินการลงทุน ตัวชี้วัด และการพัฒนานโยบายและแผนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง 2.ผลิตองค์ความรู้เพื่อตอบคำถามว่าสุขภาพในมิติของภาระโรคของคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรและมีแนวโน้มเป็นอย่างไรเพื่อฉายภาพปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคต และประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพจากการดำเนินงานของระบบสุขภาพ โดย สสส. นำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผนดำเนินงานและผลักดันมาตรการเชิงรุกเชื่อมประสาน บูรณาการทำงานกับกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สธ. ซึ่งเป็นองค์กรหลัก พัฒนาชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของ 5 ปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มโรค NCDs และสื่อสารรณรงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้กับประชาชน
“สสส. เน้นจัดการกับสาเหตุของโรค NCDs ที่ต้นทาง มี 5 ปัจจัยหลัก คือ การบริโภคยาสูบ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ซึ่ง สสส. มีบทบาทสำคัญในการจัดการข้อมูลทางวิชาการ ขับเคลื่อนนโยบาย และขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในวันนี้อาจไม่สะท้อนให้เห็นถึงการลดการเจ็บป่วยได้ทันที แต่ในอีก 20 ปี ข้างหน้า หากคนไทยมีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นจะช่วยให้คนไทยไม่เจ็บป่วยก่อนวัยอันควร โดยในปี 2565 สสส. โดยแผนงานควบคุมกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) พยายามดำเนินการควบคุมจัดการทั้ง 5 ปัจจัยหลัก หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ทั้งในกลุ่มสถานประกอบการ โรงเรียน และชุมชน ขับเคลื่อนเชิงนโยบายควบคุมอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ด้วยมาตรการทางภาษี และเตรียมจัดทำคู่มือสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ ให้คำแนะนำเชิงบวกให้เข้ากับรูปแบบวิถีชีวิตยุคดิจิทัล เพื่อดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และผู้จัดการแผนงาน WHO-CCS NCDs กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เห็นชอบให้ขับเคลื่อนแผนเร่งรัดการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน หรือ Together Fight NCDs โดยตั้งเป้าภายในปีพ.ศ.2568 1. ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลและโซเดียมลงร้อยละ 30 2. ร้อยละ 70 ของประชาชน รู้ตัวเลขบ่งชี้สุขภาพและจัดการความเสี่ยง หรือ “Know your number Know your risk” 3. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันแล้วยังไม่รู้ตัว ได้รับการคัดกรองและได้รับการวินิจฉัยเพิ่มขึ้น และ 4. ผู้ที่เป็นโรคแล้วก็สามารถควบคุมโรคได้ ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้ถ่ายทอดแผนเร่งรัดไปที่จังหวัดต่างๆผ่านสำนักงานควบคุมป้องกันโรคทั้ง 13 เขตแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่ทราบสถานะความดันโลหิตของตนเองว่าอยู่ในระดับที่เป็นโรคแล้ว จึงขอเชิญชวน ให้ตรวจวัดความดันตนเอง เฉลี่ย 7 วัน ถ้ายังสูงเกิน 135/85 มิลลิเมตรปรอท ควรรีบมาขอรับการตรวจวินิจฉัยในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสุขภาพ