กรมอนามัย แนะ เด็กไทยกินผักผลไม้หลากสี ปลา ไข่ ช่วยบำรุงสายตา

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ เด็กไทยเลือกกินอาหารประเภทพืชผักผลไม้หลากสี ปลา และไข่ เพื่อบำรุงสายตา ป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของดวงตา

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบำรุงสายตา เพราะหากร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดจะส่งผลเสียต่อสุขภาพตาได้ โดยเฉพาะสายตาเด็กที่ต้องใช้เทคโนโลยีผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ในการเรียนออนไลน์ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางด้านสายตาเพิ่มมากขึ้น เช่น เกิดภาวะตาล้า ปวดตา แสบตา ตาแห้ง พ่อแม่จึงควรเลือกอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาให้กับเด็ก ได้แก่

1) ผักผลไม้หลากสี เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ และสารต้านอนุมูลอิสระ คือ

(1) วิตามินเอ ช่วยปกป้องกระจกตา ช่วยการมองเห็นในที่มืด ได้แก่ ผักผลไม้สีเหลือง ส้ม เขียว ซึ่งมีสารแคโรทีนอยด์ ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ เช่น ตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ผักโขม คะน้า พริกหยวก ส่วนผลไม้ เช่น มะละกอ แคนตาลูป มะม่วงสุก

(2) วิตามินซี เป็นสารที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ ได้แก่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น คะน้า ผักโขม กะหล่ำปลี บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง พริกต่าง ๆ ส่วนผลไม้ เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ฝรั่ง กีวี่

(3) ลูทีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวโพด ผักโขม อะโวคาโด

(4) ไลโคปีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในมะเขือเทศ ฟักข้าว

(5) แอนโทไซยานิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบในผักและผลไม้สีม่วง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ทับทิม กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง

2) ปลา เพราะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า

3) ไข่ เนื่องจากในไข่แดงจะมีสารลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งจะช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของเลือดและเส้นเลือดฝอยที่เลี้ยงตา ป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของดวงตา

​“นอกจากนี้ เด็กที่เรียนออนไลน์ควรได้รับการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยมีแสงสว่าง ในห้องเพียงพอ ปรับแสงจากหน้าจอให้พอเหมาะ เพิ่มขนาดตัวอักษร เด็กที่มีสายตาสั้นอยู่เดิม ควรเพิ่ม กิจกรรมนอกบ้าน หรือเพิ่มการมองระยะไกลบ้างตามสมควร มีตารางเวลาในการเรียน การพัก และการได้คุย ได้เล่นกับคนรอบข้าง เพื่อเป็นการพักสายตาและลดความเครียดจากการเรียนออนไลน์ได้ และถนอมดวงตา โดยยึดหลักปฏิบัติ 20-20-20 คือ ทุก ๆ 20 นาที ให้พักสายตา 20 วินาที และมองไกล ๆ ไปยังสิ่งที่อยู่ไกลกว่า 20 ฟุต หรือ 6 เมตร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 8 มกราคม 2565