กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์แนวโน้มวันเด็กแห่งชาติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับเด็ก ขอความร่วมมือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้เด็กสวมหน้ากากป้องกันอย่างเหมาะสม พร้อมให้ตรวจเช็คค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 คาดการณ์ว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วง 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม มีแนวโน้มของระดับฝุ่นละอองที่สูงขึ้นอยู่ในระดับสีส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะในโซน กรุงเทพเหนือ กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และลมอ่อน ในหลายพื้นที่ โดยจะมีแนวโน้มของสถานการณ์ดีขึ้นในวันที่ 11-13 มกราคม ดังนั้น วันเด็กประจำปี 2565 นี้ แม้ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยังไม่มีประกาศให้งดจัดงานวันเด็ก โดยให้ประเมินสถานการณ์ เป็นรายพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากเห็นว่าปลอดภัยก็สามารถจัดกิจกรรมได้ โดยในการจัดกิจกรรมดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพนักงาน และด้านผู้เข้าร่วมงาน หากพื้นที่ใดไม่พร้อม หรือสถานการณ์ยังมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น ให้พิจารณาเลื่อนหรืองดไปก่อน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ที่มีการจัดงานวันเด็ก เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีแผนพาลูกไปเที่ยวหรือร่วมกิจกรรมในวันเด็กตามสถานที่ต่าง ๆ จึงต้องใส่ใจ ดูแลสุขภาพเด็กเป็นพิเศษ ในกรณีที่มีการจัดกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 เช่น ลานกิจกรรม สนามกีฬา สวนสาธารณะ อาจทำให้มีการสูดฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หากพบว่าค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง ควรให้เด็กหลีกเลี่ยงหรือลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องออกนอกอาคาร ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี และเลือกขนาด ของหน้ากากให้เหมาะสมกับใบหน้าของเด็ก ห้ามสวมหน้ากากทุกชนิดขณะที่ออกกำลังกาย หรือต้องใช้แรง ในการทำกิจกรรมอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายของเด็กต้องหายใจแรงและเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบ หัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น อาจเป็นอันตรายได้
“บางหน่วยงานที่จัดงานวันเด็กในอาคาร ยังคงต้องเข้มปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก และหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันโควิด-19 ควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ ในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสังเกตอาการของเด็ก หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด ให้รีบพาไปพบแพทย์ สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเตรียมยา อุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ก่อนออกจากบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th หรือ แอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ โดยต้องแปลผลให้ถูกต้อง หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากับค่า AQI ที่ 101–200 ถือว่าอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่หากพบค่า PM2.5 ที่สูงกว่า 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป ซึ่งเทียบเท่า AQI ที่สูงกว่า 201 ขึ้นไป อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และสามารถประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง และพฤติกรรมการป้องกันฝุ่นละออง ได้ที่ https://4health.anamai.moph.go.th
กรมอนามัย / 7 มกราคม 2565