ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังคงน่าจับตามอง โดยเฉพาะการพัฒนาของไวรัส สายพันธุ์โอมิครอน ที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การใช้ประโยชน์สมุนไพรในครัว ยังคงมีความจำเป็น ใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ในคนที่เริ่มจะเป็นหวัด อย่างเช่น หัวหอม หรือ หอมแดง ที่คุ้นเคย และใช้ในอาหารหลากหลายเมนู
หัวหอม หรือ หอมแดง เป็นเครื่องเทศดับกลิ่นคาวในตำรับอาหารต้มยำทำแกงไทยมายาวนาน ในทางยานิยมใช้แก้หวัด หัวหอมมีสารสำคัญเด่น คือ เควอซิทิน (quercetin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และทำให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นสารต้านการแพ้ที่ดีมาก หอมแดงยังช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ไอ หอบหืด โดยแก้หวัดคัดจมูกในผู้ใหญ่และเด็กนั้นใช้หัว 2-4 หัว ทุบพอบุบ ห่อผ้าขาวบางหรือผ้าเช็ดหน้าวางไว้ใกล้ๆหมอนก่อนนอน กลิ่นหอมแดงที่ระเหยออกมา ทำให้หายใจโล่งขึ้น(สำหรับเด็กให้วางตอนที่เด็กหลับแล้ว) วางทุกคืนจนอาการหวัดหายไป หรือการใช้แก้พิษแมลงสัตว์ กัดต่อย โดยใช้หัวหอมแดง ประมาณ 1 หัว ขยี้หรือตำให้แหลกแล้วนำมาทา หรือใช้ไล่แมลงสาบ เนื่องจากหอมแดงมีสารกำมะถันสูงทำให้มีกลิ่นฉุน จึงสามารถหั่นหอมแดงเป็นแผ่นๆ แล้วนำไปวางบริเวณที่แมลงสาบชอบเข้ามา จะช่วยขับไล่แมลงสาบได้
หอมแดง… กับคุณประโยชน์ในการอยู่ร่วมกับโควิด 19
- ฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulator) หัวหอมช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างสมดุล ลดระดับของสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มากเกินจนอาจนำไปสู่การอักเสบ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และทำหน้าที่อย่างเหมาะสมในการต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ที่สำคัญคือ ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดที่สามารถจับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้อย่างรวดเร็ว มีความแข็งแรงและเพิ่มจำนวนขึ้น1
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Anti-inflammation) สารเควอซิทิน สามารถลดการอักเสบผ่านหลายกลไก เช่น ลดการสร้างสารกระตุ้นการอักเสบที่ไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมากเกินไปจนทำให้เกิดภูมิแพ้หรือหอบหืด และอาจนำไปสู่การเกิดพายุไซโตไคน์ในผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำ ให้เกิดการอักเสบด้วย1
- ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidation) เควอซิทิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยทำงานผ่านหลายกลไก เช่น ลดการสร้างอนุมูลอิสระในผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง กำจัดอนุมูลอิสระ เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการลิปิดเปอร์ออกซิเดชั่น (lipid peroxidation) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ1
- ฤทธิ์ต้านไวรัส (Antiviral) หัวหอมมีสารสำคัญหลายชนิดที่ไปยับยั้งกลไกการแบ่งตัวของไวรัส2
- ฤทธิ์เกี่ยวกับโรคทางเมทาบอลิก (Metabolic syndrome) ช่วยลดไขมันเลว (LDL) และรักษาระดับไขมันดี (HDL) สลายไขมันและลดน้ำหนัก ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยควบคุมความดันโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดง3
- ผลต่อระบบประสาทและสมอง ในหอมแดงมีสารพวกโพลีฟีนอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเควอซิทิน ซึ่งช่วยปกป้องสมองจากภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ มีการทดลองในหนูที่ พบว่า เควอซิทินน่าจะเป็นสารสำคัญในการลดอาการซึมเศร้าในหนู4
รูปแบบและวิธีการใช้
คนปกติ ผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยลองโควิดควรรับประทานหอมแดงเป็นประจำ ในรูปแบบของอาหาร แต่มีข้อควรระวังคือ ตำราจีนห้ามกินหอมแดงเกินวันละ 3 หัว (หัวขนาดเท่านิ้วมือ) เชื่อว่าจะทำให้เกิดอาการมึนงง หลงลืมง่าย
ข้อควรระวังในการใช้หอม
- เนื่องจากน้ำมันหอมแดงมีสารกำมะถันสูง จึงทำให้แสบตา ผิวเกิดการระคายเคือง จึงควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณผิวที่บอบบาง
- การรับประทานหอมแดงมากเกินไป อาจทำให้ผมหงอก มีกลิ่นตัว และมีอาการหลงลืมง่าย ดังนั้น ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะดีกว่า
- หอมแดงอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงหอมแดง หากคุณมีเลือดออกผิดปกติ นอกจากนี้หลีกเลี่ยงหอมแดงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
ตำรับการใช้หอมแดง แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก
- วิธีปิดขม่อม (ขม่อมหรือกระหม่อมคือส่วนสูงสุดของศีรษะตอนกลาง)
เอาหอมแดง 2-4 หัว ตำพอแหลกพอกตรงขม่อมเด็กยกเว้นตรงกลางขม่อมให้เว้นเป็นช่องกลมไว้ให้กว้างสัก 1/2-1 นิ้ว พอกนานไม่เกิน 1 ชั่วโมง นิยมพอกตอนเย็นก่อนตะวันตกดินหรือพอกตอนกลางคืนในขณะเด็กหลับก็ได้ พอกทุกวันจนอาการหายไป
ข้อควรระวัง : อย่าใช้มากเกินไปจะทำให้เด็กแสบจมูก ระวังไอระเหยของหอมแดงเข้าตาเด็ก ควรหาผ้าปิดตาเด็กหรือทำในขณะที่เด็กหลับ หากพบมีอาการแพ้ให้หยุดใช้ทันที
- วิธีต้มน้ำอาบ
ใช้หอมแดง 4-5 หัวทุบให้แตกใส่ในถังเติมน้ำเดือดลงไป 1 กา ผสมน้ำเย็นจนน้ำอุ่น ใช้อาบและสระหัวเด็ก ขณะที่อาบน้ำให้เอาหัวหอมที่อยู่ในน้ำมาปิดขม่อมด้วย อาบวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น อาบทุกวันจนอาการหวัดหายไป
ข้อควรระวัง : ต้องอาบในที่อับลม อย่าให้ลมโกรกเวลาอาบ
ปรึกษาหมอ : https://lin.ee/47PRVjiFz
ชมคลิปสอนทำ: https://youtu.be/phzoBQnMSJY
ข้อมูลอ้างอิง
- Marefati N. et al. A review of anti-inflammatory, antioxidant, and immunomodulatory effects of Allium cepa and its main constituents. Pharmaceutical Biology. 2021; 59(1):287–302.
- Pandey P. et al. Screening of Potent Inhibitors Against 2019 Novel Coronavirus (Covid-19) from Allium sativum and Allium cepa: An In Silico Approach. Biointerface Research in Applied Chemistry2021;11(1):7981 – 7993.
- Upadhyay RK. Nutraceutical, pharmaceutical and therapeutic uses of Allium cepa: A review. International Journal of Green Pharmacy. 2016:10(1);46-64.
- Sakakibara H, et al. Antidepressant-Like Effect of Onion (Allium cepa L.) Powder in a Rat Behavioral Model of Depression. Bioscience, Biotechnology and Biochemistry, 2008:72(1);94–100.