สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : บัวบก บำรุงสมอง ฟื้นฟูปอด โดยสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

บัวบกเป็นสมุนไพรแก้ช้ำของไทย ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นยาอายุวัฒนะ มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในกระดูกเอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็กๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ตา ไต ได้ดีขึ้น ช่วยให้แผลหายเร็ว บำรุงสมอง เพิ่มความจำ บัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำ มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง หลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้ต้นหรือใบสดทำ เป็นอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะน้ำ บัวบก ไปจนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งเครื่องสำอาง

Herbal Thankuni leaves of indian subcontinent

บัวบก กับคุณประโยชน์ในการอยู่ร่วมกับโควิด 19

  • ฤทธิ์ต้านไวรัส (Antiviral) ในการศึกษาพบว่า กรดเอเชียติก (asiatic acid) ในบัวบกสามารถจับกับโปรตีนของไวรัส ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์และเพิ่มจำนวนได้1,2,3
  • ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (Anti-inflammation) บัวบกช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว และลดการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบซึ่งหลายชนิดในจำนวนนี้ก่อให้เกิดพายุไซโตไคน์ และยับยั้งเอนไซม์ที่ทำ ให้เกิดอนุมูลอิสระ ยับยั้งการกระตุ้นเซลล์ที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยผ่านหลายกลไก4,5
  • ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidation) บัวบกมีสารที่มีผลในการต้านอนุมูลอิสระ โดยไปยับยั้งการสร้างอนุมูลอิสระ ทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น และทำให้ลูกโซ่ของการเกิดอนุมูลอิสระหยุดลง จึงช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ได้6
  • ฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulator) สารสกัดบัวบกทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวสู่บริเวณที่มีการติดเชื้อ เพิ่มการจับกินเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม และยังสามารถเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ทำให้สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้มากขึ้น4
  • ฤทธิ์ทางระบบประสาท ลดความเครียด อาการซึมเศร้า บำรุงสมอง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ทำให้มีการส่งกระแสประสาทเพิ่มขึ้น สมองทำงานฉับไวขึ้น ช่วยการหายใจในระดับเซลล์ ลดการเกิดสารอนุมูลอิสระในสมอง ช่วยการทำงานของระบบประสาท และลดการตายแบบ apoptosis ของเซลล์ประสาท7
  • ผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแข็งตัว เนื่องจากกรดเอเชียติกในบัวบกทำให้ความดันโลหิตลดลง โดยไปมีผลต่อ เอนไซม์ Angiotensin converting และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยทำให้การแข็งตัวของหลอดเลือดลดลง มีผลดีต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตาย7
  • ฤทธิ์ต้านการเกิดพังผืดที่ปอด (Anti-fibrosis) บัวบกมีผลในการบรรเทาการเกิดพังผืดในปอด โดยลดการสะสมของคอลลาเจน โดยไปสร้างการเรียงตัวของคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ ทำให้ไม่เกิดการทับกันจนเกิดเป็นพังผืด8,9

รูปแบบการใช้

คนปกติ ผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยลองโควิด (Long Covid) ควรหาโอกาสรับประทานบัวบกใน รูปแบบต่างๆ เช่น น้ำบัวบก อาหารจากใบบัวบก หรือในรูปแบบแคปซูล เม็ด ผง ฯลฯ เป็นประจำ ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป และไม่กินต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ประโยชน์สุขภาพในด้านอื่นๆ

บัวบกเป็นยาเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงสมอง เสริมความจำ ทำให้แผลหายเร็ว มีการพัฒนาเป็นยาทาเพื่อรักษาแผลเป็น ป้องกันการเกิดคีลอยด์

ตัวอย่าง เครื่องดื่มผงชงฟื้นฟูปอด

ส่วนประกอบ :  ใบบัวบก 200 ก. ขมิ้น 150 ก.  อบเชย 150 ก. น้ำตาลทราย 250 ก.

วิธีทำ : ล้างสมุนไพรทั้ง 3 ให้สะอาด ต้มน้ำ 1 ลิตร เมื่อน้ำเดือดใส่ขมิ้นชันหั่นเป็นแว่น และอบเชยลงไป ทิ้งไว้ 5 นาทีจึงใส่บัวบกตามลงไป ต้มต่ออีก 15 นาที ปิดไฟกรองเอาแต่น้ำยาต้ม จากนั้นนำน้ำยาต้มมาเทลงในกระทะตั้งไฟอ่อนๆ ใส่น้ำตาลพร้อมคนให้ละลายเข้ากันดี และกวนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนตัวยาเริ่มเกาะกันเป็นเกล็ดให้ปิดไฟ แล้วกวนต่อเนื่องให้เร็วๆจนกลางเป็นผงยาเกล็ด

เก็บผงแห้งไว้ นำมาชงน้ำกินโดยใช้ผงแห้ง 3 ช้อนชา ต่อน้ำ 150 มิลลิลิตร (ใช้ชงกาแฟ หรือเครื่องดื่มแทนน้ำตาล)

สรรพคุณสมุนไพร

  • บัวบก ลดการสร้างพังผืด ต้านการอักเสบ
  • อบเชย มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารกระตุ้นภูมิคุ้ม
  • ขมิ้นชัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ

ข้อควรระวัง

  • บัวบกเป็นยารสเย็น และมีการสะสมได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินทีละมากๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • หากมีอาการแพ้ เช่น เวียนหัว ปวดหัว หัวใจสั่น ผิดหนังคันมาก ท้องร่วง ให้หยุดกินทันที
  • สตรีหลังคลอดบุตร หรือผู้ที่มีอาการท้องอืดแน่นเป็นประจำ ไม่ควรกิน

ปรึกษาหมอ : https://lin.ee/47PRVjiFz

ชมคลิปสอนทำ: https://youtu.be/r4onHGBDmlw

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Laksmiani PLN. et el. Active Compounds Activity from the Medicinal Plants Against SARS-CoV-2 using in Silico Assay. Biomed Pharmacol J 2020;13(2).
  2. Musfiroh I. et el. Prediction of Asiatic Acid Derivatives Affinity Against SARS-CoV-2 Main Protease Using Molecular Docking . Pharmaceutical Sciences and Research (PSR), 2020, 57-64.
  3. Maya GP. et el. In silico identification of natural products from Centella asiatica as severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 main protease inhibitor. J Adv Pharm Technol Res. 2021;12(3):261-6
  4. Harun HN. The Potential of Centella asiatica (Linn.) Urban as an Anti-Microbial and Immunomodulator Agent: A Review. Nat Prod Sci. 2019;25(2):92-102
  5. Park JH et al. Anti-inflammatory effect of Centella asiatica phytosome in a mouse model of phthalic anhydride-induced atopic dermatitis. Phytomedicine. 2018;110-9
  6. Yasurin P., Sriariyanun M., Phusantisampan T. Review: The Bioavailability Activity of Centella asiatica. KMUTNB Int J Appl Sci Technol. 2016;9(1):1-9.
  7. Sun B. et al. Therapeutic Potential of Centella asiatica and Its Triterpenes: A Review. Frontiers in Pharmacology. 2020;11:1-24
  8. Fizur MMN. et al. Pharmacological Properties, Molecular Mechanisms, and Pharmaceutical Development of Asiatic Acid: A Pentacyclic Triterpenoid of Therapeutic Promise. Front. Pharmacol. 2018;9, 982.
  9. Bian D. et al. Asiatic Acid Isolated From Centella Asiatica Inhibits TGF-ß1-induced Collagen Expression in Human Keloid Fibroblasts via PPAR- Activation. Int J Biol Sci. 2013; 9(10):1032-1042.