ชป.เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ ร่วมมือทุกหน่วยงานหาแนวทางป้องกันและช่วยเหลือ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมทางไกลออนไลน์ (Web Conference) จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การมอบนโยบายด้านการเกษตร ให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานจังหวัด จัดทำข้อมูลสำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล รวมไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน ทั้งนี้ขอให้ประเมินด้วยว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ และพื้นที่ใดที่มีความอ่อนไหวหรือเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรจังหวัด ในการดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่เพียงพอให้พิจารณาว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำอะไรบ้าง สามารถขุดชักน้ำมาใช้ได้หรือไม่ หรือสำรวจดูว่ามีบ่อน้ำบาดาลในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ หากไม่มีจริงๆ ให้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องขนส่งน้ำไปให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ขอให้พิจารณาดำเนินการชักน้ำ หรือสูบน้ำ รวมทั้งให้จัดทำแผนการใช้เครื่องสูบน้ำ ก่อนที่จะทำการขนส่งน้ำไปให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ จัดทำเป็นรายงานสรุปนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน จัดเตรียมและกระจายเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้ทั่วถึง พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้ง ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การรายงานสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการสื่อสารผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน เพื่อให้ข่าวสารเรื่องน้ำเผยแพร่ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้ทำการสำรวจพื้นที่ หรือสำรวจหาตาน้ำที่ยังมีน้ำไหลออกมาพอสมควร เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้อีกทางหนึ่งด้วย

กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 โดยทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันในขณะนั้น ประมาณ 39,570 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)(เป็นปริมาณน้ำจากในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ ทั้งประเทศ) ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 61/62 รวมกันประมาณ 23,100 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(4 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งไปแล้วประมาณ 15,639 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯทั้งประเทศ เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร(พืชใช้น้ำน้อย) และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทาน

สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ(แผนฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 61/62 วางไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 – เม.ย. 62) คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯประมาณ 1,817 ล้าน ลบ.ม.

ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 61/62 ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.87 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 5.85 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 (แผนวางไว้ 5.30 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.52  ล้านไร่ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง(นารอบที่ 3)ต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และระยะเวลายาวนานมากขึ้น จึงขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำด้วย

สำหรับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆของกรมชลประทาน นั้น ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เครื่องจักรกล และเครื่องมือต่างๆ รวม 4,850 หน่วย กระจายอยู่ในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศแล้ว ซึ่งพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถขอความช่วยเหลือ หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน 1460 รวมทั้ง สามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง www.rid.go.th  www.wmsc.rid.go.th หรือติดตามข่าวสารได้ทาง FB : เรารักชลประทาน และ FB : ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

***************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ

กรมชลประทาน