กรม สบส. เผยผลสำรวจ 5 อันดับพฤติกรรมการปฏิบัติตาม Universal Prevention ของคนวัยทำงาน พบอันดับ 1 เมื่อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง แต่ไม่ได้ตรวจATK เน้นย้ำประชาชนยังคงตั้งการ์ดสูง ปฏิบัติตามหลัก Universal Prevention ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19 เทศกาลหลังปีใหม่ มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มมากขึ้น เน้นย้ำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษาได้ทำการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพภาพรวมประเทศ ในประเด็นพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 – 12 สำรวจกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 15-59 ปี จำนวน 119,040 คน ในระหว่างวันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน 2564 พบว่ากลุ่มวัยทำงานยังมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 5 อันดับ ดังนี้ อันดับ 1 เมื่อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ไม่ได้ตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด 19 ด้วยตนเอง (ATK) หรือไปรับบริการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ร้อยละ 27 อันดับ 2 ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกบ้าน ร้อยละ 21.2 อันดับ 3 ไม่ได้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ ร้อยละ 13.4 อันดับ 4 ไม่ได้เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตรในทุกสถานที่ร้อยละ 8.0 และอันดับ 5 ใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ และใบหน้า ตา จมูก ปาก ร้อยละ 6.6
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อความ ไม่ประมาทและร่วมกันรณรงค์สร้างพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล เมื่อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วยชุดตรวจ คัดกรองโรคโควิด 19 ด้วยตนเอง (ATK) หรือไปรับบริการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกบ้าน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตรในทุกสถานที่ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จําเป็น ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นทุกชนิด ออกจากบ้านเมื่อจําเป็น แยกสำรับเวลารับประทานอาหารกับผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือ ไอ จาม และรับประทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ วิธีการดังกล่าวเป็นการย้ำเตือนตัวเองและทุกคนในครอบครัวทุกกลุ่มวัย ปฏิบัติตามคำแนะนำตามมาตรการป้องกันการติดโรคโควิด 19 ขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด
**************** 6 มกราคม 2565