กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยเชื่อมั่นวัคซีนมากขึ้น เข้าถึงช่องทางรับวัคซีนมากขึ้น และชะล่าใจลดลง เป็นปัจจัยให้ยอดการฉีดวัคซีนของประเทศพุ่งสูงขึ้นได้ตามเป้าหมาย https://bit.ly/34nepkO
วันที่ 5 มกราคม 2565 กรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจจากการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความตระหนักในการฉีดวัคซีน พบคนไทยเชื่อมั่นวัคซีนมากขึ้น เข้าถึงช่องทางรับวัคซีนมากขึ้น และชะล่าใจลดลง เนื่องจากทุกภาคส่วนทำงานกันอย่างบูรณาการ มีการมอบหมายนโยบายเชิงรุก เข้าถึงผู้ต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้น มีทีมอำนวยความสะดวกทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พระภิกษุ ชุมชนที่เข้าถึงยาก เพื่อสื่อสารและขยายการฉีดวัคซีนให้เต็มที่
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความลังเลใจในการฉีดวัคซีนเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ทั้งที่มีวัคซีนในการให้บริการที่อย่างพอเพียงต่อประชากร โดยองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความลังเลเกิดจาก 3 ช. ได้แก่
1.เชื่อมั่นต่อวัคซีน
2.ชะล่าใจประมาทต่อสถานการณ์
3.ช่องทางรับวัคซีน
กรมสุขภาพจิตจึงได้ทำการสำรวจทั้ง 3 ปัจจัยในประชาชนทั่วไป เน้นกลุ่มเสี่ยง 608 เด็กและเยาวชน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 (จำนวน 604 ราย) และเดือนธันวาคม 2564 (จำนวน 3,272 ราย) พบว่า ประชาชนมี ความเชื่อมั่นต่อวัคซีนมากขึ้น จากร้อยละ 53.8 เป็นร้อยละ 67.36 ประชาชนเข้าถึงช่องทางการรับวัคซีนที่มากขึ้น จากร้อยละ 61.61 เป็นร้อยละ 72.31 และประชาชนรู้สึกชะล่าใจลดลง จากร้อยละ 80.89 เหลือเพียงร้อยละ 59.41ซึ่งจากการที่ความชะล่าใจสามารถลดลงในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เนื่องจากเครือข่ายสาธารณสุขและประชาชนทุกคนต้องช่วยกันให้ข้อเท็จจริงแบบเคาะประตูบ้าน และระยะหลังทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขับเคลื่อนเพิ่มจุดวัคซีนให้กว้างขวางขึ้น ทำงานเชิงรุกเดินเข้าชุมชนเพื่อฉีดวัคซีน อำนวยความสะดวกในกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษและเรื่องการนัดหมาย รวมถึงการเดินหน้ากำหนดแผนงานเชิงรุกอำนวยความสะดวกทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง พระภิกษุ ชุมชนที่เข้าถึงยาก เพื่อสื่อสารและขยายการฉีดวัคซีนให้เต็มที่
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ที่ปฏิเสธการรับวัคซีนในขณะนี้พบว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีความลังเลในเบื้องต้นเนื่องจากอาจรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันจำนวนมาก พบว่ากลับมาอยากฉีดวัคซีนมากขึ้นด้วยแรงจูงใจที่เกิดจากครอบครัวซึ่งมีผลอย่างมาก ดังนั้น หากมีสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เราทุกคนต้องช่วยกันสร้างแรงจูงใจแก่กันและกันเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัวและชุมชน และใช้กลไกการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง คือ “VUCA” ได้แก่ “V” Vaccine ฉีดวัคซีนลดการป่วยหนัก “U” Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา “C” Covid Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการพร้อม และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ และ “A” ATK พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้คนติดเชื้อหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขเองยังใช้เครื่องมือสำคัญเพื่อเพิ่มการได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม ที่เรียกว่า VA (Vaccine Advice) และ VI (Vaccine Intervention) คือ การซักถามว่าเป็นกังวลใจอะไร สงสัยอะไร และให้กำลังใจเป็น เมื่อมีข้อมูลถูกต้องก็ชื่นชม แต่หากไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ต้องอธิบายเพื่อให้จนความลังเลนั้นหายไป ซึ่งกลไกดังกล่าวทำให้ผู้ลังเลฉีดวัคซีนจำนวนกว่า 2,506 คน กลับมายอมรับการฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจถึงร้อยละ 76.6 และสามารถครบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอนในอนาคต
ท้ายที่สุดนี้กรมสุขภาพจิตขอรณรงค์การสร้างความตระหนักในการฉีดวัคซีน แต่ไม่ตระหนก เปลี่ยนความกังวลใจเป็นพลัง ด้วยการมีสติในการรับรู้ข่าวสาร หมั่นทบทวนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนอย่างถี่ถ้วน มีสติในการศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เปิดใจพร้อมรับฟังคนรอบข้าง รู้วิธีการจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวอย่างเหมาะสม สามารถชื่นชมตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ LINE@1323forthai หรือ ปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป