นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดตาก และจังหวัดเลย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ โดยสถานการณ์การผลิตและการตลาด ปี 2562 (ปีเพาะปลูก 2561/62 ) ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า
จังหวัดตาก มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 553,954 ไร่ ผลผลิต 404,896 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.95 และร้อยละ 1.23 ตามลำดับ จังหวัดเลย มีเนื้อที่เพาะปลูก 527,756 ไร่ ผลผลิต 371,201 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.25 และร้อยละ 2.38 ตามลำดับ โดยทั้งเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ตามแนวทางการตลาดนำการผลิตด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ทั้ง 2 จังหวัด อยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคา ณ 20 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า จังหวัดตาก ความชื้น 14.5% ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.37 บาท และความชื้นเกิน 14.5% กิโลกรัมละ 7.27 บาท จังหวัดเลย ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.05 บาท และความชื้นเกิน 14.5% กิโลกรัมละ 6.06 บาท
สำหรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 หลังนา (พฤศจิกายน 2561 – กุมภาพันธ์ 2562) ในพื้นที่จังหวัดตาก และจังหวัดเลย พร้อมจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 โดยคาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตแน่นอน
อย่างไรก็ตาม รัฐควรมีมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวโพดภายในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดตากและเลย ซึ่งมีแนวชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ และ สปป.ลาว ทั้งนี้ ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด่านศุลกากร ฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อออกลาดตระเวนในบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง และเตือนผู้ประกอบการห้ามลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาภายในประเทศอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร