“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 ธันวาคม 2564 พบผู้ป่วย 10,384 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มเด็กแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงราย น่าน และตาก ตามลำดับ”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวมักมีการระบาดช่วงฤดูหนาว และติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หากมีอาการดังกล่าว ควรงดการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน ดังนั้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยตนเองเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด 19 โดยการสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือ ขยี้ตา ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีอาการป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ร้อยละ 60-80 และสามารถฉีดได้ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ซึ่งสามารถฉีดได้ทันทีโดยไม่ต้องเว้นระยะระหว่างวัคซีนทั้ง 2 ชนิด สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรังได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรังหอบหืดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.โรคอ้วน คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
…………………………………
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 2 มกราคม 2565