สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ธ.ค. 64

+ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก อากาศเย็น สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (114 มม.) จ. จ.นราธิวาส (90 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (82 มม.)

+ กอนช. เตือนฝนตกหนักภาคใต้ตอนล่างเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และมีคลื่นสูง ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศเตือนภาคใต้ฝนตกหนักอีกครั้ง รวมทั้งคลื่นลมแรงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 30 -31 ธ.ค. 64 ทั้งนี้ภาคใต้จะกลับมามีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะบริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนชายฝั่งทะเลอ่าวไทยบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และ นราธิวาส จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 37,429 ล้าน ลบ.ม. (65%) ขนาดใหญ่ 30,151 ล้าน ลบ.ม. (63%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และสิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ค่าความเค็ม อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม่น้ำท่าจีน ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการถ่ายโอนโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นต้น เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการถ่ายโอนโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากมีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ส่วนราชการยังไม่พร้อมถ่ายโอนให้ อปท. อีกจำนวนมากที่มีสภาพชำรุดเสียหายและอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ ขาดการบำรุงรักษา อปท.จึงไม่สามารถรับโอนได้ เพื่อให้แหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าวสามารถกลับมาใช้งานและเป็นประโยชน์กับประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ ที่ประชุมจึงได้พิจารณาแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานดำเนินการปรับปรุงโครงการขนาดเล็กให้สามารถใช้งานได้ ก่อนถ่ายโอนให้กับ อปท. ต่อไป