วันที่29 ธันวาคม 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีบันทึกความร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตำรับยาสมุนไพรไทยที่ใช้ป้องกันหรือรักษาโรคโควิด 19 โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ลงนามที่ห้องประชุม 110 ชั้น 1 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ ว่า สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการร่วมกันใน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตำรับยาสมุนไพรไทยที่ใช้ป้องกันหรือรักษาโรคโควิด 19 ทั้งด้านของคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดจนศึกษาความปลอดภัยของยาตำรับในสัตว์ทดลอง โดยสถาบันวิจัยสมุนไพรมีความพร้อม ทางห้องปฏิบัติการที่ดำเนินการวิจัยทดสอบตามมาตรฐานสากลทั้งในระบบ ISO/IEC 17025 : 2017 และ OECD GLP สามารถดำเนินการศึกษาวิจัยทดสอบได้ทั้งการศึกษาการต้านอักเสบ การสมานรอยแผลในเซลล์ปอด และการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ในส่วนคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมในการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารสำคัญของตำรับยา ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพในการควบคุมภูมิคุ้มกัน ศึกษาความสามารถในการดูดซึมและการแตกตัวด้วยแบบจำลองเนื้อเยื่อลำไส้สามมิติ (3D intestinal model) ศึกษา เภสัชจลนศาสตร์ของตำรับยา และศึกษาชีวประสิทธิผลของยา ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัย ด้านเทคโนโลยีตำรับยาสมุนไพรไทย รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ ทักษะด้านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรมตำรับยาสมุนไพรไทยที่ใช้ป้องกันหรือรักษาโรคโควิด 19 และช่วยผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์ จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ เพื่อทำให้คนไทย มีสุขภาพดีและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศตามหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health Concept อันจะนำมาสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ระยะแรก ในปีงบประมาณ 2565 นี้ ทางสถาบันวิจัยสมุนไพรจะดำเนินการยื่นขอรับรองการทดสอบด้านการก่อกลายพันธุ์ตามระบบ OECD GLP จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมบูรณ์ของ OECD ตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบัน OECD มีสมาชิก 38 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นหากได้รับการรับรองในรายการทดสอบดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลา ในการขึ้นทะเบียน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน OECD GLP แล้วสามารถนำไปขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสมาชิก OECD ไม่ต้องทำการทดสอบซ้ำในต่างประเทศ ตามข้อตกลงในระบบการยอมรับข้อมูลร่วมกัน (Mutual Acceptance of Data : MAD) ซึ่งเชื่อถือได้และสามารถยอมรับได้ทั่วโลก
***********************