กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมภาคีเครือข่าย จัดทำแนวทางการประเมิน และคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมาสุรา ถ่ายทอดให้เครือข่าย อสม. 1.05 ล้านคน นำไปใช้ปฏิบัติ ณ ด่านชุมชน ร่วมสกัดอุบัติเหตุที่เกิดจากการมึนเมาสุราของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เป็นศูนย์
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ (29 ธันวาคม 2564 – 4 มกราคม 2565) กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ซึ่งกรม สบส.ในฐานะหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับเครือข่ายสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำแนวทางการประเมิน และคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมาสุรา ถ่ายทอดให้เครือข่าย อสม.ที่มีจำนวนกว่า 1.05 ล้านคน ทั่วประเทศ ได้นำไปใช้ปฏิบัติ ณ ด่านชุมชน พร้อมขอความร่วมมือจากพี่น้อง อสม.ในการร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ การลดอุบัติเหตุ ภายใต้แนวคิด“ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ”ให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เกิดการบาดเจ็บ เสียชีวิต จากอุบัติเหตุที่มาจากการมึนเมาสุราของผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นศูนย์ และนอกจากการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ พี่น้อง อสม.ก็จะช่วยเฝ้าระวัง สอดส่อง การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุ ต่ำกว่า 20 ปี เพื่อป้องกัน และลดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะวิวาทจากการเมาสุราในกลุ่มเยาวชน
ด้านนพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของ อสม.ประจำด่านชุมชนนั้น นอกจากการร่วมตั้งด่านกับฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว อสม.ยังมีบทบาทในการทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับที่อยู่ในชุมชน โดยใช้การสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น โดยการสังเกตลักษณะทางกายภาพ อาทิ มีอาการเดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นสุรา และให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะประเมินอาการมึนเมาสุรา เบื้องต้นด้วย
1 ในวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
1. “แตะจมูกตัวเอง” ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตาหากแตะจมูกที่ปลายจมูกไม่ได้แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะเมาสุรา
2. “เดินแล้วหัน” ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้สันชิดปลายเท้าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายอีก 9 ก้าวห ากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ต้องใช้แขนช่วยพยุงหรือล้มเซ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา
3. “ยืนขาเดียว” ยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 เซนติเมตร เริ่มนับ 1000, 1001, 1002… จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซวางเท้าลง เขย่ง หรือใช้แขนทรงตัวแสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในสภาวะมึนเมาสุรา อสม.จะให้นั่งพักและประเมินซ้ำทุกๆ 30 นาที หากอาการไม่ดีขึ้นจะติดต่อให้ญาติมารับกลับที่พักต่อไป
*************** 29 ธันวาคม 2564