(28 ธ.ค.64) เวลา 09.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมหารือเพื่อพัฒนากรอบการวิจัยและบูรณาการความร่วมมือ กทม.-บพท.-พอช. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง โดยมี ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ผู้อำนวยการเขตคันนายาว เขตพระโขนง และเขตดุสิต ผู้แทนจากสำนักพัฒนาสังคม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องจามจุรีบอลรุม A ชั้น M โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ 5 ล้านกว่าคน แต่มีประชากรที่อยู่อาศัยอยู่จริง รวมถึงที่เข้ามาใช้ทรัพยากรและบริการต่าง ๆ ในพื้นที่กว่าวันละ 10 ล้านคน ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของปัญหาและความสับสนในการบริการจัดการ เพราะมีการซ้อนทับของการบริหารราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการทั้งป้องกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งโดยเงื่อนไขที่เกิดจากกรุงเทพมหานครเอง และเงื่อนไขที่มาจากต่างพื้นที่ และด้วยความที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ กรุงเทพมหานครจึงเป็นพื้นที่แสดงอาการของปัญหาทั้งอาชญากรรม การจราจร มลพิษ แม้กระทั่งเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งทางการเมือง คนจน ความยากจน หรือประเด็นคุณภาพชีวิตของคนเมืองก็เช่นเดียวกัน
กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่มีหน่วยงานหลายหน่วยงานของกรุงเทพมหานครร่วมกันรับผิดชอบ เช่น สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานระดับสำนักมีบทบาทหน้าที่และภารกิจในเชิงประเด็นและขับเคลื่อนงานในระดับนโยบาย ขณะที่สำนักงานเขตจะเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากรุงเทพมหานครได้ให้ความสนใจในเรื่องของคนมาโดยตลอด เพราะคนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านบวกและด้านลบ เรื่องของคนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ทั้งในกำกับของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายนอก รวมไปถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญทั้งในมิติของช่วงวัย การเปลี่ยนผ่าน และคุณภาพของคนในแต่ละช่วงวัย การที่จะดำเนินการแก้ไขและพัฒนาคนให้มีความครอบคลุม ถูกต้อง สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพเพียงพอ มีชุดความรู้ในการวิเคราะห์เพื่อความถูกต้อง และมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้เกิดความถูกต้อง รวดเร็ว ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องข้อมูล และการวิเคราะห์แปรผลข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือ วางแผนจัดการแก้ไขปัญหา ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า การประชุมหารือในวันนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเชื่อมโยงงานวิจัยที่เป็นงานทางวิชาการและการปฏิบัติของหน่วยงานเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะประเด็นหารือที่เน้นในเรื่องของความยากจน หรือคนจนในพื้นที่เมือง ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นปัญหาของคนจน หรือเป็นหน้าที่หลักของกรุงเทพมหานคร แต่ยังเป็นโจทย์สำคัญที่กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการให้บรรลุผลตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด การแสดงเจตจำนงของ บพท. ในการนำความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินการโครงการแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่ 20 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบท มาทดลองนำร่องกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือคนจนในพื้นที่เมือง จึงนับเป็นคุณูปการอย่างมากทั้งต่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่านโยบายต่าง ๆ จากส่วนกลางจะมาพร้อมกับรูปแบบและกลไกในการดำเนินงาน ซึ่งมักจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติกับหน่วยงานโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีโครงสร้างของปัญหา และการบริหารราชการที่ต่างไปจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ดังนั้นการหาตัวแบบในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของเมืองกรุงเทพมหานคร ทั้งในมิติของตัวปัญหา และโครงสร้างการบริหารราชการจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหา
แม้ว่าวันนี้จะเป็นการหารือในประเด็นเรื่องของคนจนและความยากจนของคนเมืองเป็นหลัก แต่ด้วยการที่กรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ทุกประเภท ทุกระดับ และจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล ความรู้ทางวิชาการสนับสนุนการวิเคราะห์ กำหนดทางเลือก และประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ จึงหวังว่าจะมีการขยายขอบเขตความร่วมมือในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรุงเทพมหานคร และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากเป็นดำเนินการแบบมีส่วนร่วมเพื่อที่ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ และประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ จะได้เรียนรู้และตัดสินใจร่วมกัน ในการเลือกรูปแบบหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาความเป็นอยู่ของตัวเอง และนำไปสู่การกำหนดกลไกและแนวทางในการบริหารจัดการภารกิจของกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับความต้องการ บริบทของปัญหา และอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านร่วมกันรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงการฯ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะท่านผู้อำนวยการเขต และผู้แทนจากสำนักพัฒนาสังคม ขอให้สะท้อนปัญหาข้อเท็จจริง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เพื่อในที่ประชุมจะได้ช่วยกันกำหนดรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกรุงเทพมหานครให้มากที่สุด
—–