“สกสว. จับมือพันธมิตร เชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมระดมสมองเสนอทิศทางการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาสังคมไทย”
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานTSRI Seminar Series E: Science for The Future เสวนาออนไลน์ระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 2 Embracing the Future Through Science Communication: สร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาสังคมไทย โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) / สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) / สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)/ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) เข้าร่วมเวทีเสวนาและระดมสมองแนวทางการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการสร้างความตระหนักรู้และการรู้วิทยาศาสตร์ (Science Awareness & Science Literacy) เพื่อยกระดับศักยภาพคนไทยให้พร้อมสู่โลกอนาคต
โอกาสนี้ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความสนใจและรักในวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างชาติให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ผู้ที่สามารถสื่อสารหรือโต้แย้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นเหตุเป็นผลจำเป็นต้องรู้และใช้องค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งบริบทหรือสถานการณ์ของวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมถึงความสำคัญและความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยปรับเนื้อหาให้เป็นเรื่องน่ารู้ใกล้ตัว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้หันมาสนใจเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างกระบวนการคิด เรียนรู้ นำไปสู่การแก้ปัญหาและใช้ประโยชน์ได้อย่างเข้าใจ จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับสังคม และยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนผ่านการเปิดมุมมองการเรียนรู้ที่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์และสร้างแรงบันดาลใจได้อีกทางหนึ่งด้วย
การจัดเสวนาในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อย่าง อพวช. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจในการพัฒนาและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและประชาชนในสังคม ผ่านสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ นิทรรศการ การเสวนา การฝึกอบรม และกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์, สวทช. หน่วยงานที่มีภารกิจด้านการสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ, สดร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์ของประเทศ มีการให้บริการทางด้านดาราศาสตร์ มีหอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ เพื่อใช้ในการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าและมีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ
ดร.พิชัย สนแจ้ง ประธานมูลนิธิสมุทธาภิพัฒน์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ OKMD ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ ถอดบทเรียนการสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์นั้นหมายถึง การที่ทําให้ประชาชนสนใจ มีความรู้ ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตระหนักถึงความสําคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการดํารงชีวิต โดยกระบวนการสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะมี 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย การรู้วิทยาศาสตร์ (Science Literacy) และการจัดการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science Knowledge Management) ทำให้เกิดการคิดอย่างมีเหตุมีผลและเป็นกระบวนการ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับเยาวชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง สร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาสังคมไทย โดย ดร.กรรณิการ์ เฉิน รอง ผอ.อพวช. / ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รอง ผอ.สวทช. สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ ดร.วิภู รุโจปการ รอง ผอ.สดร. เป็นวิทยากร และการเสวนาเรื่อง“สื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างไรถึงได้ใจผู้ฟัง” โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รอง ผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท). ด้านการมีส่วนร่วม
โดยคุณณัฐพงษ์ กล่าวว่า สื่อมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้วิทยาศาสตร์ให้กับสังคม แต่ปัญหาในปัจจุบันพบว่า ยังคงมีช่องว่างระหว่างการสื่อสารระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับประชาชนทั่วไป ดังนั้น การเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องพยายามสื่อสารในสิ่งที่สังคมอยากรู้ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชมผู้รับก็ต้องหนักรู้ความสำคัญของข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งกลไกการสื่อสารจะเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดความสมดุล และจะทำให้สามารถขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่สังคมไทย
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนากรอบแนวคิดสำหรับการขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อระดมความคิดเห็นในการสร้างกรอบแนวคิดในการดำเนินงานและขับเคลื่อนแผนด้าน ววน. ให้คนไทยเกิดความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคมไทย รวมถึงเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปสร้างการรับรู้และสื่อสารสู่สาธารณชนในรูปแบบต่างๆ โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนจากเวทีสัมมนา สกสว. จะนำไปออกแบบการทำงานร่วมกันเชิงกลยุทธ์ต่อไป