บอร์ดภาพยนตร์ฯ ไฟเขียวตั้งอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power ผลักดันความเป็นไทยสู่สากล เผยมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล จูงใจผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศถ่ายทำในไทย 135 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 5,082 ล้านบาท
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุมได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะละมุน(Soft Power) โดยมีรมว.วธ.เป็นประธานอนุกรรมการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานอนุกรรมการคนที่หนึ่ง ประธานกรรมการปฏิรูประเทศด้านสื่อสารมวลชน เป็นรองประธานอนุกรรมการคนที่สอง ปลัดกระทรวง ผู้แทนหน่วยงาน สมาคมที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นอนุกรรมการ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ไทย
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่และอำนาจ เช่น ศึกษา วิเคราะห์ เสนอนโยบาย แผนและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน(soft power) เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ กำหนดมาตรการแนวทางและสนับสนุนการดำเนินงานสร้างความตระหนักในตราสินค้าของประเทศไทยให้สอดคล้องกับการรับรู้ของภูมิภาคต่างๆ และสนับสนุนให้มีการผลิตหรือร่วมผลิตสื่อบันเทิงบางประเภทกับภาครัฐ เอกชนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการแผนงานส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในและต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งวธ. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะประสานงานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนบูรณาการ โดยร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ในนามทีมประเทศไทย(Content Thailand) จัดกิจกรรมในประเทศ 15 กิจกรรม เช่น งานประกาศรางวัลโทรทัศน์ทองคำ งานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ งานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร และในต่างประเทศ 10 กิจกรรม อาทิ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส งานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งการจัดกิจกรรมมุ่งเน้นรูปแบบปกติ(On Site) ส่วนกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ดำเนินการตามความเหมาะสมโดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การระดมทุน Crowfunding ในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อคอนเทนต์ไทย โดยมีผู้แทนวธ. สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะอนุกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ เช่น ศึกษาระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ดำเนินการจัดตั้งแพลตฟอร์มดิจิทัล จัดทำระเบียบรองรับในการระดมทุนสาธารณะผ่านเว็บไซต์กลางจากประชาชน ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนนำมาสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย เช่น ละคร ภาพยนตร์ แอนิเมชัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ Soft Power ความเป็นไทยตามนโยบายรัฐบาลสู่นานาชาติและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนให้กองถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณาทำงานต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 31กรกฎาคม 2563 จนถึงต้นเดือนธันวาคม 2564 มีภาพยนตร์ต่างประเทศถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด 135 เรื่อง สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 5,082 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีภาพยนตร์ที่มีคณะถ่ายทำเดินทางมาจากต่างประเทศ 42 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 3,702 ล้านบาท โดยประเทศที่มีงบประมาณลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อเมริกากว่า 1,924 ล้านบาท ออสเตรเลียกว่า 702 ล้านบาท และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงกว่า 416 ล้านบาท
////