‘กรมเจรจา’ เผยความตกลงอาเซียน (อาฟตา) ส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าการค้าไทย-อาเซียนปี 2561

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้การค้าไทย-อาเซียน ในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 13 อาเซียนยังครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้ามากถึงร้อยละ 22.7 ด้านไทยในฐานะประธานอาเซียนพร้อมผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย พร้อมแนะให้ใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2561 เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 13 โดยมีมูลค่า 113.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 68.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 45.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล  เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา ของปี 2561 พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟตาส่งออกไปอาเซียน 26.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 39.3 ของการส่งออกไปอาเซียน และนำเข้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟตา 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 20.5 ของการนำเข้าจากอาเซียน โดยสินค้าส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟตามากที่สุด เช่น รถบรรทุกขนาดไม่เกิน 5 ตัน น้ำมันปิโตรเลียม น้ำตาล รถยนต์ส่วนบุคคล เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง/เพดาน เป็นต้น และสินค้านำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์จากอาฟตามากที่สุด เช่น ส่วนประกอบยานยนต์ รถยนต์ขนส่งบุคคล มอนิเตอร์ โปรเจ็คเตอร์ ลวด เคเบิล มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนการค้ามากถึงร้อยละ 22.7

นอกจากนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมกันผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องการจะขยายการค้าการลงทุนจนเป็นผลสำเร็จ อาทิ 1) การส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน 2) การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เพื่อรองรับการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน 3) การจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนและปรับปรุงความตกลงการลงทุนของอาเซียน และ 4) การสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน

โดยในปี 2562 ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้มีการนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการทำงานด้านดิจิทัลและด้านนวัตกรรมของอาเซียน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมการดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาต่างๆ ให้สามารถปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยี (2) ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น โดยประเด็นเหล่านี้จะสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสอดรับกับความต้องการของอาเซียนและภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555 และอีเมล์ ftacenter@dtn.go.th โทร. 02-507-7555

***************************************************

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์