“ตรีนุช”ปล่อยคาราวานอาชีวะจิตอาสาฯให้บริการช่วงปีใหม่

“ตรีนุช” ให้ของขวัญประชาชน ปล่อยคาราวาน “อาชีวะจิตอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เทศกาลปีใหม่ พ.ศ. พร้อมเปิดศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัด 77 จังหวัด ด้าน สอศ.เตรียมจัด Up Skill – Re Skill – New Skill ฟรี!

วันที่27 ธ.ค.64 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัด ( Ministry of Education Career and Entrepreneurship Center) หรือ ศูนย์ CEC และเป็นประธานปล่อยคาราวาน “อาชีวะจิตอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565” เพื่อให้บริการในการดูแล บำรุงรักษา และซ่อมแชมยานพาหนะของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนที่ออกเดินทาง ท่องเที่ยว และเดินกลับไปยังภูมิลำเนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยจะให้บริการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึง 4 มกราคม 2565 รวมระยะเวลา 7 วัน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการเตรียมพร้อมกำลังคน โดยพัฒนาให้เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจกระแสใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม รวมทั้ง การพัฒนาวิสาหกิจตั้งใหม่ (Start Up) และวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงการสร้างสังคมผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดฐานการผลิตและบริการการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศและศักยภาพของพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัด” ขึ้นที่สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงาน ใน ศธ.ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ

ด้าน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการสร้างเสริมทักษะและประสบการณ์อาชีพสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา การฝึกอาชีพ วิชาชีพระยะสั้น ที่เป็นการ Up Skill Re Skill และ New Skill ในสาขาอาชีพต่างๆ ให้แก่นักศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ กำลังแรงงาน ผู้ว่างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และประชาชนที่เป็นผู้ด้อยโอกาส พลาดและขาดโอกาส ให้มีทักษะฝีมือและสมรรถนะอาชีพ

นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมและพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญ อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านอาชีพไปสู่การเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (INNOPRENUER) ภายใต้สังคมยุคดิจิทัล มีความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจ การออม และการลงทุน จนนำไปสู่การประกอบอาชีพอิสระหรือดำเนินการธุรกิจ SME’s อย่างมีคุณภาพต่อไป

“ การจัดงานในวันนี้ เพื่อเป็นการนำเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายภายใต้ ศูนย์ CEC ปีงบประมาณ 2564 และการแสดงเจตนารมณ์ในการเป็นหุ้นส่วนสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการ ในปีงบฯ2565 ที่มีจุดเน้นในด้านการพัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการจัดตั้งธุรกิจ หรือ ศูนย์ Start Up ภายใต้ศูนย์ CEC รวมทั้งผลการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ภายใต้ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา ของ สอศ. และส่งความสุขเนื่องในโอกาสปีใหม่ ปี 2565 ฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น Re-Skill, Up-Skill และ New Skill ฟรี แก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 77 หลักสูตร โดยมีเป้าหมาย 38,500 คน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565” ดร.สุเทพ กล่าว.

โอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้มอบโล่รางวัลชนะเลิศโครงการอาชีวะสร้างสรรค์ แปรฝันสู่ธุรกิจ ประจำปี 2564 ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ มี 3 รางวัล ได้แก่ แผนธุรกิจเกาหยุก วิทยาลัยการอาชีพตรัง แผนธุรกิจแมท-จันท์ (Mat-Chan) วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี และแผนธุรกิจศรีคราม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มี 7 รางวัล ได้แก่ หมี่เบตงสูตรงาดำ วิทยาลัยการอาชีพเบตง คุกกี้โปรตีนจากเห็ดแครง วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ Snacky Herb กระชายเขย่า วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร น้ำพริกตะไคร้ปลากะตัก Chilianchovy วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อินดี้ ล็อฟท์ เฟอร์นิเจอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ ขนมแคร๊กเกอร์เมี่ยงคำ “คำไทย” วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน “พริกซี๊ด” น้ำพริกปลาช่อนเสริมโปรตีนจากถั่วเหลือง วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 10 รางวัล ได้แก่ NICC Wooden Gift วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช R-GRAINS กระยาสารทธัญพืชพอดีคำ วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร ชาบูเสียบไม้ วิทยาลัยการอาชีพวิเชียรบุรี หอยสีทองเลี้ยงแล้วรวย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี BRAHE SCREEN วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี MTC BABER วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด ห้างหุ้นส่วนสามัญ อวดดี ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากย่านอวดเชือก วิทยาลัยเทคนิคพังงา Techniccon 3D วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เม็ดชาไข่มุก ตรา Jelly Beat วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา และเมี่ยงคำสติ๊ก วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี.