กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” เผยสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ปรับปรุงในส้วมวัดมากที่สุด คือ ความสะอาด ร้อยละ 77.33 จัดกิจกรรมรณรงค์ “จิตอาสา พัฒนาส้วมวัด พร้อมรับปีใหม่ 2565” เพื่อให้มีส้วมที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
วันที่ 27 ธันวาคม 2564 นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกิจกรรมรณรงค์ “จิตอาสา พัฒนาส้วมวัด พร้อมรับปีใหม่ 2565” ณ วัดบางไผ่ พระอารามหลวง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ให้ได้มาตรฐาน HAS คือ สะอาด (Healthy) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) ในสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงพยาบาล ศาสนสถาน ตลาดสด แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร สถานีบริการเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานีขนส่ง และริมทางสาธารณะ ซึ่งในภาพรวม ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 72 ขณะที่ส้วมในศาสนสถาน ผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 48 โดยจากผลการสำรวจอนามัยโพล เรื่อง “ความคิดเห็นต่อการใช้บริการส้วมวัด” ตั้งแต่วันที่ 16 – 23 ธันวาคม 2564 พบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการ ให้ปรับปรุงในส้วมวัดมากที่สุดคือ ความสะอาด ร้อยละ 77.33 รองลงมาคือ กลิ่น ร้อยละ 55.38 อยากให้มีสบู่ สำหรับล้างมือ ร้อยละ 49.50 มีกระดาษชำระ ร้อยละ 47.06 มีน้ำสะอาดใช้ ร้อยละ 46.77 และมีการระบายอากาศ ร้อยละ 43.19 รวมทั้งสิ่งที่ประชาชนไม่พอใจจากการใช้บริการส้วมวัดมากที่สุดคือ พื้นส้วมสกปรก ร้อยละ 88.18 รองลงมาคือ โถส้วมสกปรก ร้อยละ 87.27 มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 83.64 ไม่มีกระดาษชำระ ร้อยละ 75.45 ไม่มีสบู่ล้างมือ ร้อยละ 71.82 การระบายอากาศไม่ดี ร้อยละ 55.45 พื้นลื่นและเปียก ร้อยละ 50 ไม่มีน้ำใช้หรือน้ำราด ร้อยละ 37.27
“ทั้งนี้ เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนในการทำกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว การมีส้วมที่สะอาดปลอดภัยจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ “จิตอาสา พัฒนาส้วมวัด พร้อมรับปีใหม่ 2565” ในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างกุศลร่วมกัน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้อื่น และช่วยป้องกันโรค โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ขอความร่วมมือ วัด ศาสนสถาน และสถานที่สาธารณะทุกแห่งใส่ใจเรื่องความสะอาดของส้วม บริเวณผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก สำหรับประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดต้องช่วยกันรักษาความสะอาด และมีพฤติกรรมในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่าง ขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเองและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน ทำความสะอาดส้วมวัดนั้น ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง สวมถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน สวมรองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันที” ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
กรมอนามัย / 27 ธันวาคม 2564