วธ.เปิดคลังสมองแบ่งปันประสบการณ์ 7 ศิลปินศิลปาธรผ่าน“รายการศิลปะอำรุง” ทาง สศร.แชนนอล ออนไลน์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์และการจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ดังนั้น วธ.โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จึงได้จัดทำรายการศิลปะอำรุง ชุด Change the Series “7 ศิลปาธร 7 สิ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นรายการที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ เชิดชูเกียรติ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2564 ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่ โดยสามารถติดตามรับชมรายการศิลปะอำรุง ชุด Change the Series “7 ศิลปาธร 7 สิ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลง”ที่มีการเผยแพร่ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ทางแฟนเพจ Facebook และ YouTube channel สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า รายการศิลปะอำรุง ในครั้งนี้มีศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปากรจำนวน 7 ท่าน ได้แก่

1. นายปรัชญา พิณทอง สาขาทัศนศิลป์

2.นายวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง สาขาวรรณศิลป์

3.ผศ.อโณทัย นิติพน สาขาดนตรี

4. ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ สาขาสถาปัตยกรรม

5. ดร.กฤษณ์ เย็นสุดใจ สาขาศิลปะการออกแบบ

6.นางสาวสุมณฑา สวนผลรัตน์ สาขาศิลปะการแสดง

7. นายนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว มาร่วมรายการในรูปแบบรายการวาไรตี้ทอล์ค ที่ชี้ชวนให้มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ ผ่านการจุดประกายของศิลปิน และมาถ่ายทอดเรื่องราวการค้นพบคุณค่าของงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ จากการสร้างสรรค์และนำมาปรับใช้จนสามารถสร้างอาชีพได้

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า รางวัลศิลปินศิลปาธร เป็นรางวัลที่สศร.ได้ดำเนินการคัดสรรศิลปินรุ่นกลางที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นใหม่ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ทุกท่านล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้เข้าถึงประชาชนโดยการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยกับชุมชน ใช้กระบวนการทางศิลปะเข้าช่วยกล่อมเกลาจิตใจ เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการบำบัดและเยียวยาสมาชิกในสังคมให้มีความเข้มแข็ง รู้จักปรับวิถีการดำรงชีวิตให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้วัฒนธรรมวิถีใหม่ นอกจากนี้ ผลงานทางศิลปะจากความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินศิลปาธร ช่วยส่งเสริม สืบสาน พัฒนาทักษะ ต่อยอดภูมิปัญญาในรูปแบบของศิลปะร่วมสมัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ทันสมัยและมีคุณค่า ช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย นำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
///