เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ที่สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้เกียรติบันทึกเทปร่วมแถลงข่าว “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” เพื่อกระตุ้นให้จังหวัดต่างๆ เร่งหากลยุทธ์ในการตรวจพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีของจังหวัดให้ได้เร็ว และให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับยาต้านไวรัส ได้เร็ว ซึ่งสามารถประเมินได้จากค่าจำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ของผู้ติดเชื้อก่อนเข้ารับยาต้านฯ โดยจะเป็นการแข่งขันระหว่างจังหวัดต่างๆ เพื่อหาผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศ เข้ารับรางวัล พร้อมมอบโล่เกียรติยศ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ประเทศไทยจะสามารถยุติเอดส์ได้ภายในปี 2573
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 ข้อมูลจากการคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีปี 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อ เอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 493,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 6,000 คน (เฉลี่ย 16 คน/วัน) และมีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ จำนวน 11,300 คน/ปี (เฉลี่ย 31 คน/วัน) ส่วนด้านการรักษาพบว่า ในปี 2563 ร้อยละ 94 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (472,445 คน) รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง ร้อยละ 84 ของผู้ที่ติดเชื้อที่รู้สถานะการติดเชื้อฯ ได้รับยาต้านไวรัส และร้อยละ 97 ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งยังพบช่องว่างในการส่งเสริมให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็ว และที่ยังคงต้องเร่งดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรักษา ร้อยละ 95 กรมควบคุมโรค จึงมีนโยบายด้านการรักษาที่สำคัญคือ การเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสให้เร็ว ในวันเดียวกับการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งปรับสูตรยาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ รู้สถานะการติดเชื้อเร็ว ได้รักษาเร็ว จนสามารถลดเชื้อไวรัสในเลือด ลดการเสียชีวิต และไม่ถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่น รวมถึงพัฒนาและบูรณาการระบบการคัดกรองโรค ดูแลรักษาเอชไอวีและโรคร่วม ได้แก่ วัณโรค วัณโรคแฝง ไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกทั้งมีการขับเคลื่อน “จังหวัดยุติเอดส์” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ให้บูรณาการทรัพยากรและทำงานร่วมกัน โดยรับผิดชอบการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในพื้นที่ของตนเอง
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย (IHRI) กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นการปลุกมาตรการด้านเอชไอวีให้กลับมาเข้มข้นขึ้น จึงอยากให้ประชาชน และภาครัฐให้ความสนใจเข้าร่วม และสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งการตรวจเร็ว รักษาเร็ว จะทำให้จังหวัดยุติเอดส์ได้เร็ว เป็นผลดีกับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของจังหวัด ไม่ต่างจากจังหวัดที่ควบคุมโควิด 19 ได้
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้คนที่ป่วยและเสียชีวิตจากเอดส์น้อยลง เมื่อรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็จะทำให้ส่งต่อ หรือถ่ายทอดเชื้อให้คนอื่นน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งแปลว่าการใช้งบประมาณด้านการรักษาและป้องกันก็จะลดลงแต่กลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนโรคอื่นๆ ได้มากขึ้น
ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประจำประเทศไทย เล็งเห็นว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยให้กระบวนการรักษาเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการเข้าถึงยาที่ดีขึ้น เป็นผลให้ลดการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ นับว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติได้ตั้งไว้ใน The New UNAIDS 2025 Targets
คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เป็นตัวแทนของภาคประชาชน ได้เสนอแนะให้ยกระดับการยุติเอดส์เป็นวาระของประเทศ โดยมีการรับยาต้านไวรัสในวันเดียวกับที่ตรวจพบเชื้อเป็นเป้าหมายของประเทศ และของทุกหน่วยบริการ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรามีความพร้อมที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยา และการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ตามมาตรฐาน
สำหรับ “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2565 และในช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2565 สามารถแสดงความจำนงมาได้ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ด้วยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานครให้ผ่านรองปลัดกรุงเทพมหานครฝ่ายการแพทย์ ด้วยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการประเมินผลจะไม่เปิดเผยชื่อหรือข้อมูลของผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลใด รางวัลมีดังนี้ รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 7 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมทั้งใบประกาศเกียรติคุณและโล่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3211
***************************
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
วันที่ 27 ธันวาคม 2564