พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนโควิดตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือ
1.ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ให้สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกสูตร ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม , แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ หรือซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า กรณีอายุ 18 ปีขึ้นไป และสูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้อายุ 12-17 ปีเป็นหลัก
2.ผู้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เป็นไปตามกำหนดที่นัดหมายไว้
3.ผู้ที่ต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ ส.ค.-ต.ค. 2564 พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก , ผู้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มช่วง ส.ค.-ต.ค. 2564 พิจารณาฉีดด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่รับเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก
4.ผู้ที่เคยติดเชื้อและต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้ในผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์หรือครบเกณฑ์น้อยกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ
ในส่วนของแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโควิดกลุ่มพิเศษ เช่น กลุ่มภูมิต้านทานไม่ค่อยดี ผู้ที่รับประทานยากดภูมิ หรือกลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ ควรได้เข็ม 3 กระตุ้นห่างจากเข็ม 2 ในเวลา 1 เดือน กลุ่มนี้จะสามารถเข้ารับวัคซีนตามแนวทางได้ที่โรงพยาบาลที่ตนเองรักษา ซึ่งโรงพยาบาลนั้นๆ จะมีข้อมูลอยู่ ให้ติดต่อดำเนินการตามแนวทางได้ทันที
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับวัคซีนเข็มที่ 4 ได้แก่
1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า
3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันซึ่งกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ กรุงเทพมหานครมีฐานข้อมูลการให้บริการและสถานที่ฉีดเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้หากจะเริ่มดำเนินการและมีประกาศแนวทางจากกรมควบคุมโรค กทม. สามารถจัดสรรวัคซีนไปยังหน่วยงานที่ให้บริการและวางแผนการฉีดวัคซีนได้ทันที
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้ 100% แต่จะสามารถลดอาการหนัก หรือลดการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ขอเชิญชวนทุกคนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเอง และผู้อื่น รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
————