ไทย-ฮ่องกง ปักหมุดหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ  ภายหลังความสำเร็จจากการเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อเมษายน 2560 และมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างไทยและฮ่องกง  โดยรัฐบาลให้การต้อนรับนางแครี่ หล่ำ (Carrie Lam)  ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมด้วยคณะภาครัฐและเอกชน ที่เดินทางมาไทยในระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 และได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนว่าฮ่องกงได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน จึงได้ให้ความสำคัญในการเข้ามาเปิดสำนักงาน HKETO ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยในด้านการค้าและการลงทุนในสายตาของผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ และจะส่งผลดีต่อการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา และหลังจากการเยือนในครั้งนี้ ทางฝ่ายฮ่องกงจะได้มีการจัดคณะผู้แทนการค้าจากภาครัฐและเอกชน เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2562 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ไทยยังได้ใช้โอกาสนี้ ในการหารือกับฮ่องกง เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยฮ่องกงจะมองไทยในฐานะ Gateway เข้าสู่อาเซียน และไทยจะใช้ฮ่องกง เป็นประตูเจาะเข้าสู่ตลาดจีน  ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN – Hong Kong Free Trade Agreement: AHKFTA) และความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN – Hong Kong Investment Agreement: AHKIA) ซึ่งเริ่มเจรจามาตั้งแต่ปี 2557 กำลังจะมีผลบังคับใช้ในกลางปี 2562 รวมทั้ง การใช้ประโยชน์จาก Greater Bay Area หรือ GBA ที่เป็นเขตเศรษฐกิจเชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงในมณฑลกวางตุ้งรวม 11 เมือง ที่เชื่อมฮ่องกงในฐานะ Super Connector กับเส้นทางสายไหม (Belt & Road Initiative : BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีน และสามารถเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนเข้ากับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งหวังให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ S-Curve ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจสู่การเน้นวิทยาการและนวัตกรรมและนำพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและธุรกิจบริการ และรัฐบาลยังได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างเอเชียตะวันออก – อาเซียน – เอเชียใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่สนใจของนานาประเทศ รวมถึงเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าทั้งแบบดั้งเดิมและการค้าขายออนไลน์ (E-Commerce) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2562 ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและได้ประกาศแนวคิดหลัก คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งบ่งบอกถึงทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่ในด้านความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก ฮ่องกงจึงถือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเดินทางมาครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมคู่ขนานการสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย – ฮ่องกง (Thai – Hong Kong Strategic Partnership) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว โดยได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (นางแครี่ หล่ำ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ก่อนมีการลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนา Start Up และ การจัดตั้ง Smart City ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนและประสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1)  Innospace (Thailand) กับ HKTDC 2) Innospace (Thailand) กับ Hong Kong Cyberport 3) Innospace (Thailand) กับ Ho & Partners Architects Engineers & Development Consultants Limited  (HPA) และฉบับที่ 4 เป็นการลงนามระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  กับ HKTDC เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสด้านการลงทุน และการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย

ภายหลังการลงนาม MOU จะมีการจัดเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา Start Up และขยายลู่ทางการค้า การลงทุน โดยผู้บริหารชั้นนำจากหน่วยงานของฮ่องกง  ได้แก่ Hong Kong Productivity Council  , Hong Kong Cyberport และ HPA  รวมทั้งการเสวนาเรื่องโอกาสการค้า การลงทุนของไทยในฮ่องกง โดยอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ 1,000 คน

ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน ในปี 2018 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11 ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 และเป็นนักลงทุนอันดับที่ 5 ของไทย และคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทย-ฮ่องกงในปี 2561 จำนวน 12,563 ล้านเหรียญสหรัฐ จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 12 ในปี 2562

*********************************

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์