ก.ท่องเที่ยวและกีฬา เผยผลสำรวจความพึงพอใจนักท่องเที่ยวขยับเพิ่มขึ้นจากปี 2563

นายอารัญ บุญชัย รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมเชิงวิชาการเพื่อนำเสนอผลการสำรวจทัศนคติและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมีผู้แทนภาคการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม

โดยในที่ประชุมเผยผลการสำรวจทัศนคติและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย แบบ Face to Face จำนวน 2,000 คน ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหลักจำนวน 10 จังหวัด ช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ใน 14 ประเภทบริการ ซึ่งได้แก่

1. สนามบิน

2. บริการขนส่งโดยสารสาธารณะ

3. ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

4. แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล/ชายหาด

5. แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

6. แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

7. บริการสถานที่พักแรม

8. ภัตตาคาร/ร้านอาหารและเครื่องดื่ม

9. ร้านขายสินค้า/ของที่ระลึก

10. บริการเชิงสุขภาพ

11. บริการนำเที่ยว

12. มัคคุเทศก์

13. ประชาชน

14. เว็บไซต์ Thailand Tourism Directory

พบว่า ความพึงพอใจเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 87.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 84.9 โดยบริการที่ได้คะแนนความพึงพอใจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ประชาชน ร้อยละ 91.4 เนื่องจากคนไทยมีความเป็นมิตรและมีอัธยาศัยไมตรีชอบช่วยเหลือนักท่องเที่ยว อันดับที่ 2 บริการเชิงสุขภาพ ร้อยละ 90.8 เนื่องจากประเทศไทยมีบริการเชิงสุขภาพที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ และราคาไม่แพงสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และอันดับที่ 3 บริการสถานที่พักแรม ร้อยละ 90.3 เนื่องจากสถานที่พักแรมของไทยได้มาตรฐานทั้งบริการและราคา มีความสะดวกในการใช้บริการ รวมทั้งมีมาตรฐาน SHA และ SHA+

บริการที่ได้คะแนนความพึงพอใจน้อยสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 เว็บไซต์ Thailand Tourism Directory เนื่องจากยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติน้อย อันดับที่ 2 แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศยังมีปัญหาเรื่องห้องน้ำและค่าบริการที่ยังไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร และอันดับที่ 3 แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล/ชายหาด เนื่องจากเป็นการสำรวจในช่วงสถานการณ์โควิด-19แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและอุทยานยังปิดการให้บริการ และมีปัญหาเรื่องความสะอาดและทัศนียภาพ รวมทั้งห้องน้ำที่หายากและไม่สะอาด

ส่วนผลการสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย แบบ Face to Face จำนวน 18,000 คน ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จำนวน 10 จังหวัด และจังหวัดท่องเที่ยวรอง จำนวน 24 จังหวัด ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ใน 14 ประเภทบริการเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบว่า ความพึงพอใจเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 86.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 81.6 โดยบริการที่ได้คะแนนความพึงพอใจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ประชาชน ร้อยละ 89.2 เนื่องจากในความเป็นคนไทยที่สื่อสารกันได้และความเป็นมิตรมีอัธยาศัยไมตรีชอบช่วยเหลือนักท่องเที่ยวของคนไทย อันดับที่ 2 มัคคุเทศก์ ร้อยละ 88.2 เนื่องจากมัคคุเทศก์ของไทย มีความตั้งใจในการให้บริการและมีความเป็นมิตรรวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว และอันดับที่ 3 บริการสถานที่พักแรม ร้อยละ 87.8 เนื่องจากมีความสะดวกในการให้บริการ มีความสะอาด และมีความปลอดภัยในการให้บริการ รวมทั้งในช่วงเกิดโควิด-19 สถานที่พักแรมมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติน้อยลง จึงทำให้ไม่เกิดความแออัดและสามารถให้บริการได้ทั่วถึง ส่วนการบริการที่ได้คะแนนความพึงพอใจน้อยสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 บริการขนส่งโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 78.1 เนื่องจากอัตราค่าบริการที่ไม่มีมาตรฐานและห้องน้ำภายในสถานีไม่สะอาด อันดับที่ 2 ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้อยละ 80.8 เนื่องจากหาค่อนข้างยาก บางครั้งไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ให้บริการ และห้องน้ำให้บริการมีน้อยและไม่สะอาด และอันดับที่ 3 บริการเชิงสุขภาพ ร้อยละ 83.2 ซึ่งถึงจะอันดับคะแนนจะอยู่ท้ายๆ แต่ก็อยู่ในระดับมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยเห็นว่าบริการเชิงสุขภาพ มีค่าบริการที่ไม่คุ้มค่ากับบริการที่ได้รับและห้องน้ำบางที่ไม่ได้มาตรฐาน

นายชาคริต ปิตานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะได้ให้ข้อเสนอแนะ แนวคิด และความต้องการ เพื่อนำไปพัฒนาการสำรวจในครั้งต่อไปให้มีความสมบูรณ์เห็นถึงระดับความพึงพอใจ และปัจจัยที่จะส่งเสริมความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว อันเป็นดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพนอกเหนือจากจำนวนและรายได้ และจะเผยแพร่ผลการสำรวจดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบและนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผน กลยุทธ์ในการสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มต่อไป