“บิ๊กอู๋”เผย รัฐ – เอกชน ร่วมปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน ส่งเสริมงานที่มีคุณค่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

รมว.แรงงาน เผย ภาครัฐ เอกชน ต้องร่วมกันปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน ส่งเสริมงานที่มีคุณค่า รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์การค้า การลงทุน นำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562  พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม เรื่อง งานที่มีคุณค่าสำหรับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน งานเพื่อการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ณ โรงแรม อิสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกของการทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก ซึ่งก่อให้เกิดข้อห่วงใยต่อความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดแรงงานทั้งการว่างงาน การขาดแคลนแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รูปแบบการจ้างงานใหม่ๆ ตลอดจนกรอบการค้าเสรี (FTA) ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการนำข้อประเด็นด้านแรงงานมาเป็นข้อกำหนดสำคัญในการเจรจาการค้าเสรี ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานภายใต้กรอบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดคือ ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานด้านวิชาการทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคในการร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานแบบหุ้นส่วน ซึ่งรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานที่มีคุณค่า เพราะจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตของประเทศและภูมิภาค ที่มีความเป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทวีปเอเชียมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามปฏิญญาไตรภาคี ILO ว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติและนโยบายสังคม ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมการจ้างงาน ประกันสังคม ขจัดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก ความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียม การฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมโอกาสการทำงานและการเรียนรู้ สภาพการจ้าง สภาพการทำงาน คุณภาพชีวิต ค่าจ้างสิทธิประโยชน์ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน แรงงานสัมพันธ์ เสรีภาพในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง เป็นต้น ทั้งนี้ ผลจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งผลให้แรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้น ภาคธุรกิจสามารถดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ การขยายตลาดใหม่ภาคธุรกิจที่มีมูลค่าและสร้างความมั่นคั่ง รวมทั้งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นแหล่งการค้า การลงทุนที่น่าสนใจ ตลอดจนตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

************************************