พฤติกรรมการกินของคนไทยในปัจจุบันพบว่าเรากินเค็มมากเกินไป สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้ว่า ในอาหารมีปริมาณเกลือ หรือโซเดียมมากน้อยแค่ไหน จนทำให้หลาย ๆ คนพบเจอกับโรคดังต่อไปนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
การได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินความต้องการ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจร้อยละ 49 โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตร้อยละ 62 ของการเกิดโรคทั้งหมด การลดปริมาณโซเดียมในผู้ใหญ่ให้ได้รับโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน มีผลต่อการลดระดับความดันโลหิต และโอกาสต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต
โซเดียมจะเข้าสู่ร่างกายและปะปนในเลือดทำให้เลือดเสียสมดุล หลอดเลือดจึงพยายามดูดน้ำเข้ามาเจือจางโซเดียม จนทำให้แรงดันเลือดสูงขึ้น เมื่อความดันโลหิตสูงก็จะส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ เป็นลำดับ เช่น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เต้นเร็วขึ้น และเสี่ยงที่จะหัวใจวายไปจนถึงเส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลยทีเดียว
- โรคความดันโลหิตสูง
การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเกลือโซเดียมกับการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเริ่มต้นโดย Louis Daht และคณะ ในปีพ.ศ. 2503 พบว่าการได้รับเกลือโซเดียมมีความสัมพันธ์กับความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนํำไปสู่โรคอื่น ๆ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน
- โรคเบาหวาน
การศึกษาพบว่าในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่ง มีความบกพร่องของการทํางานของอินซูลินนั้น การลดปริมาณการกินโซเดียมลงมีผลต่อการเพิ่มระดับการทํางานของอินซูลินดีขึ้น ส่งผลให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น
- ยิ่งกินเค็มยิ่งอ้วน
จากการศึกษาพบว่ารสชาติของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้คนกินอาหารมากขึ้น โดยรสเค็มเป็นรสที่ส่งผลต่อการกินมากที่สุด รสชาติเค็มจะเร่งการผลิตโดปามีนซึ่งเป็นสารเคมีในสมองส่งผลต่ออารมณ์ความพึงพอใจ ความสุข ทําให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร เมื่อติดรสเค็มแล้วหากไม่ได้กินเค็มก็จะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย
นอกจากนี้ผู้ที่ติดรสเค็มเพียงแค่นึกถึงอาหารที่มีรสเค็มก็จะเกิดความรู้สึกหิว และอยากอาหารขึ้นมา จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ชอบกินเค็มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ง่าย
- โรคไตวายเรื้อรัง
การที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูง ทําให้มีผลกระทบโดยตรงต่อไตซึ่งเป็นอวัยวะหลักที่ทําหน้าที่กําจัดโซเดียม ทําให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นจากการทํางานหนัก และความเสื่อมนั้นจะคงอยู่ตลอดไปแม้จะมีการลดปริมาณโซเดียมลงในภายหลัง
นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูงก็เป็นอีกปัจจัยสําคัญ ที่ทําให้ไตเสื่อมด้วยซึ่งล้วนแต่มีสาเหตุจากการได้รับโซเดียมในปริมาณสูง
********************************************
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th