เกษตรกรพอใจ บางระกำโมเดล แก้ไขพื้นที่ท่วมซ้ำซาก ช่วยรับน้ำหลาก สร้างอาชีพในพื้นที่

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการติดตามการดำเนินงานจัดระบบการปลูกพืชฤดูฝนในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ในโครงการบางระกำโมเดล ปี 2561 ซึ่งมี  กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ สศก. รับผิดชอบติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 20 ตำบล  93 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ 382,000 ไร่  เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการระบายน้ำเข้า-ออก ทุ่งบางระกำ การส่งเสริมการทำประมง เลี้ยงสัตว์ ฟื้นฟูสภาพน้ำและดิน การปลูกพืชเศรษฐกิจหลังนา และการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ผลจากการดำเนินงาน พบว่า พื้นที่โครงการบางระกำโมเดล สามารถรองรับน้ำหลาก เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ ในช่วงวิกฤติของแม่น้ำยม และใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อชะลอการระบายน้ำ ลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยในปีที่ผ่านมาสามารถชะลอการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบจากพายุเซินติญ และ เบบินคา ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวตามช่วงเวลาที่มีการปรับแผนการจัดระบบปลูกพืชและเก็บเกี่ยวข้าวได้ 100%  ส่งผลให้พื้นที่เป้าหมายของโครงการที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมทั้งสิ้น 312,600 ไร่ ไม่มีพื้นที่เสียหาย เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง และแปรรูปผลผลิตประมง อาทิ ปลาส้ม ทอดมันปลา ปลาร้า ปลาแดดเดียว น้ำปลาปลาสร้อย โดยในช่วงหลังน้ำลด ได้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจหลังนา และหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก และการดูแลรักษา ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงฤดูน้ำหลาก เช่น งานเทศกาล ไหว้หลวงพ่ออินทร์ กินปลา ชมหมาบางแก้ว จ.พิษณุโลก และเทศกาลกินปลา จ.สุโขทัย

ด้านนายบุญลาภ  โสวัณณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (สศท.2) กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสัมภาษณ์ข้อมูลจากเกษตรกร จำนวน 180 ตัวอย่าง ทั้ง 2 จังหวัด พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจที่ได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ถึงแม้ปีเพาะปลูก 2561/62 ปริมาณน้ำฝนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่เกษตรกรทุกราย  สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปีได้ตามปฏิทินที่โครงการกำหนดไว้ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด ได้แก่ กข 41 กข 43 และ กข 61 และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เคยใช้อยู่เดิม เช่น กข 29 กข 51 และ กข 57 เป็นต้น อีกทั้งคุณภาพผลผลิต ที่เกษตรกรได้รับอยู่ในระดับดี ไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

ทั้งนี้ ภาพรวม พบว่า เกษตรกรพึงพอใจต่อภาพรวมโครงการเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ภาครัฐช่วยขุดคลองในบริเวณพื้นที่ตื้นเขินเพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงที่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ รวมทั้งขอให้ภาครัฐแจ้งแผนการปล่อยน้ำ และปริมาณน้ำให้เกษตรกรทราบอย่างทั่วถึง ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้ตรงตามที่โครงการกำหนด และสนับสนุนอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ที่นอกเหนือจากการทำประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก เนื่องจากบางปีฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกษตรกรไม่สามารถทำประมงได้ รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร ในการผลิตและจำหน่าย เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองการตลาด ให้มากขึ้น  ซึ่งในปี 2562 เกษตรกรยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการ ขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าวเหมือนกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกร สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 โทร. 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรือ อีเมล zone2@oae.go.th

***********************************

ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก