พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่จะออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงาน และสถานบริการต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งบางแห่งอาจมีสภาพความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย จึงได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การป้องกันอัคคีภัยในสถานบริการและสถานบันเทิง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้เจ้าของสถานบริการร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำการตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารของตนเองให้มีความพร้อมสามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น อีกทั้งห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่งอยู่ในช่วง 7 วันอันตราย กรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ในการดับเพลิงและกู้ภัย ประจำจุดเฝ้าระวังฯ จำนวน 37 จุด เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน ทั้งนี้ หากประชาชนที่พบเหตุเพลิงไหม้บ้าน เพลิงไหม้หญ้า หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังจัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมกับทหาร ตำรวจ อปพร. อาสาสมัครต่าง ๆ ออกตรวจสอบ ตรวจตราสถานประกอบการผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิงอย่างเข้มงวด ตามกำหนดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน พ.ศ. 2561 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป รวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้งก่อนและหลังปีใหม่ตามแผนรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2565 เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน
ในส่วนการเตรียมความพร้อมบริการทางการแพทย์ของ กทม. ทางสำนักการแพทย์มีมาตรการการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหลังเกิดเหตุ โดยการประสานงานไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อเตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ เตรียมความพร้อมของห้องฉุกเฉินและรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ และศูนย์เอราวัณ ให้เตรียมพร้อมในการออกช่วยเหลือประชาชนรวมทั้งมีการจัดรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินของมูลนิธิต่าง ๆ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานครร่วมกับหน่วยงานของสำนักงานเขตต่าง ๆ ประจำในจุดบริการประชาชนตามเส้นทางออกจาก กทม. โดยหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
——————–