กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาตรการความปลอดภัย Covid Free Setting บริเวณจุดเช็คอินผู้โดยสาร และบริเวณสถานประกอบการร้านค้าภายในท่าอากาศยานดอนเมือง สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่
วันที่ 21 ธันวาคม 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานตรวจเยี่ยมการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงต้องคุมเข้มการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด บริเวณจุดเช็คอินผู้โดยสาร และบริเวณสถานประกอบการร้านค้าภายในท่าอากาศยานดอนเมือง โดยขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
1) ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ต้องผ่านเกณฑ์ประเมิน COVID Free Setting จัดจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซนต์ ทุก 1-2 ชั่วโมง บริเวณพื้นผิว และอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร ปุ่มกดตู้เช็คอิน มือจับประตู ลูกบิดประตู ราวบันได เป็นต้น มีการกำจัดขยะทุกรอบ ประชาสัมพันธ์ให้พนักงานและผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการ กรณีผู้ใช้บริการไม่ปฏิบัติตาม อาจพิจารณา งดให้บริการ ส่วนผู้ป่วยยืนยันหรือผู้ที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง สำหรับร้านอาหารภายในท่าอากาศยาน ให้ทำความสะอาด โต๊ะ ที่นั่ง ทันทีก่อนและหลังใช้บริการ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด ล้างภาชนะอุปกรณ์ตามหลักสุขาภิบาลอาหารด้วยน้ำยาล้างจาน แช่ในน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 นาที อบหรือผึ่งให้แห้งก่อนใช้ใส่อาหาร จัดบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ จัดอุปกรณ์กินอาหารแบบส่วนบุคคล ได้แก่ อาหาร หรือภาชนะเครื่องปรุงรส และอุปกรณ์แบบส่วนบุคคล
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ข้อถัดมาคือ
2) ด้านการเว้นระยะห่าง การควบคุมจำนวนผู้โดยสารไม่ให้แออัด ต้องเว้นระยะห่างระหว่างรอรับบริการ ได้แก่ ระหว่างการซื้อตั๋ว การใช้ตู้เช็คอิน ส่วนร้านค้าภายใน ให้จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการไม่ให้แออัด สำหรับร้านอาหาร ให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และโต๊ะที่นั่ง 1 – 2 เมตร ควบคุมความแออัดของผู้ใช้บริการ และงดจัดบริการอาหารในรูปแบบการให้ลูกค้าหยิบตักอาหารด้วยตนเอง
3) ด้านการระบายอากาศ จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีและเพียงพอภายในอาคารสถานีโดยสาร มีการทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ
4) ด้านผู้ให้บริการ ให้มีการคัดกรองความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” มีผู้รับผิดชอบ ติดตาม กำกับการปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด โดยพนักงานทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1 – 3 เดือน กรณีพนักงานไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ ให้มีการตรวจ ATK ทุก ๆ 7 วัน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง
5) ด้านผู้รับบริการ ผู้โดยสารทุกคนมีการคัดกรองตนเองด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาขณะใช้บริการ งดเว้นการพูดคุย หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก รวมถึงการสัมผัสพื้นผิว อุปกรณ์ที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ปุ่มกดต่าง ๆ ราวจับ ราวบันได โดยไม่จำเป็น
“ทั้งนี้ การเดินทางข้ามเขตจังหวัด ผู้รับบริการจะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขการเดินทางเข้าออกของจังหวัด โดยมีเอกสารการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนอยู่ในช่วง 1 – 3 เดือน หรือผลการตรวจโดยวิธี RT-PCR หรือ ATK ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หรือเป็นผู้ได้รับการยกเว้นตามมาตรการอื่นของจังหวัดปลายทาง และเมื่อถึงที่พักให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กรมอนามัย / 21 ธันวาคม 2564