กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จับมือกรมสอบสวนคดีพิเศษ บูรณาการความร่วมมือ 2 หน่วยงาน ทั้งการจัดทีมปฏิบัติงานร่วม และยกร่างกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบัน เกิดการป้องปราม และนำตัวผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. ประชุมทางไกลปรึกษาหารือ กรณีการกระทำที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ร่วมกับ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation : DSI)
นพ.ธเรศฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 กรม สบส. และ DSI ได้มีการดำเนินคดีกับหญิงไทย และขบวนการรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) มาอย่างต่อเนื่อง และด้วยคดีดังกล่าวมักเป็นคดีที่มีความซับซ้อนทั้งในการสืบหาผู้ร่วมขบวนการ เอเจนซี่ (Agency) หรือเส้นทางการเงินของขบวนการรับจ้างอุ้มบุญที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กเกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ฯ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ กรม สบส. และ DSI จึงวางแผนบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ กรม สบส.ได้มีการดำเนินการในคดีที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ ร่วมกัน DSI อยู่ จำนวน 38 เรื่อง ประกอบด้วย
1.ร้องเรียนเกี่ยวกับอุ้มบุญ 31 เรื่อง
2.การโฆษณา 4 เรื่อง
3.ร้องเรียนอื่นๆ 3 เรื่อง
นพ.ไตรยฤทธิ์ฯ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมาย ภายในเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ทาง DSI จะพิจารณายกระดับให้คดีอุ้มบุญเป็นคดีพิเศษ โดยจะมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมอาชญากรรมข้ามชาติ และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาดำเนินการกับผู้กระทำผิด ซึ่งการที่ 2 หน่วยงาน ตั้งเป้าในการบูรณาการความร่วมมือกัน จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเข้มข้น เกิดการป้องปราม และสามารถนำตัวผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ อธิบดีฯ ทั้ง 2 ท่านให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า กรม สบส.และ DSI ได้มีการวางแผนการดำเนินการร่วมกันในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 อยู่ 4 ประเด็น ได้แก่
1. การลงนามหนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์กร (Memorandum Of Understanding :MOU) ร่วมกัน เพื่อการดำเนินงานในลักษณะคู่ขนานอย่างยั่งยืน
2. การจัดทีมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
3. การจัดอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน
4. การยกร่างกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบัน
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองประชาชนต่อไป โดยคาดว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ปัญหาและเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบอุ้มบุญภายในประเทศจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวก็อาจจะไม่สามารถขจัดปัญหาการลักลอบอุ้มบุญให้หมดไป จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคนร่วมเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ ทั้งการรับจ้างตั้งครรภ์ การโฆษณาชักชวน หรือเป็นนายหน้าให้มีการตั้งครรภ์แทน ขอให้แจ้งที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
************* 21 ธันวาคม 2564