ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจากไต้หวันเชิญสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมโครงการสร้าง “แผนที่สามมิติของสมองมนุษย์” หลังเห็นความพร้อมด้านเทคนิคสร้างภาพถ่ายสามมิติด้วยแสงซินโครตรอนของไทย พร้อมช่วยไทยเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าสร้างแผนที่เส้นทางเชื่อมต่อให้แล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาเชิงลึกต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า “ศาสตราจารย์ยูกัง วู ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพทางชีวการแพทย์ จากสถาบันฟิสิกส์ (Institute of Physics) สภาวิทยาศาสตร์ (Academia Sinica) ซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมการนานาชาติของโครงการ Synchrotron for Neuroscience – an Asia-Pacific Strategic Enterprise (SYNAPSE) ได้เดินทางมาเยือนสถาบันฯ ที่ จ.นครราชสีมา เพื่อหารือความร่วมมือวิจัยโครงการสร้างแผนที่สมองสามมิติด้วยเทคนิค Synchrotron X-ray Microtomography โดยแผนที่ดังกล่าวมีความละเอียดมากกว่าภาพถ่าย MRI และให้รายละเอียดเส้นทางเชื่อมต่อภายในสมอง
ทั้งนี้ โครงการ SYNAPSE อยู่ภายใต้ความร่วมมือของสมาพันธ์ Asia-Oceania Forum for Synchrotron Radiation Research (AOFSRR) โดยปัจจุบันโครงการนี้มีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน และออสเตรเลีย โดยประเทศที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจะปรับเทคนิคการสร้างภาพสามมิติให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งแต่ละประเทศจะได้ถ่ายภาพสามมิติของสมองมนุษย์ในส่วนที่แตกต่างกัน และประเทศที่มีความพร้อมด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะรับหน้าที่ในการประมวลข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้จากการถ่ายภาพสามมิติด้วยแสงซินโครตรอน
ศาสตราจารย์วูเห็นว่า ซินโครตรอนของไทยจะเป็นส่วนสำคัญในโครงการนี้ได้ เนื่องจากมีระบบลำเลียงแสงที่ให้บริการเทคนิค X-ray Microtomography จึงได้เป็นตัวแทนเดินทางมาหารือความร่วมมือดังกล่าว หลังจากนี้คณะผู้เชี่ยวชาญจากโครงการจะร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ติดตั้งเครื่องมือเพื่อเพิ่มความละเอียดการถ่ายภาพสามมิติด้วยแสงซินโครตรอนจาก 1 ไมครอนให้เป็น 0.3 ไมครอน เพื่อให้ได้ภาพสมองสามมิติมีมาตรฐานเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ และไทยจะได้ประโยชน์จากเทคนิคการถ่ายภาพที่ละเอียดขึ้นนี้ในการวิจัยด้านอื่นๆ”
“สำหรับภาพถ่ายสามมิติของสมองมนุษย์ที่ได้จากโครงการนี้จะเปรียบเสมือนแผนที่เครือข่ายการคมนาคม โดยจะให้ข้อมูลเส้นทางหลักของสมอง เหมือนการเชื่อมต่อของสมองแต่ละจุด จากนั้นจึงเลือกศึกษารายละเอียดของสมองในส่วนที่สนใจได้ และในอนาคตเมื่อเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ขนาด 3 GeV ของสถาบันฯ แล้วเสร็จ จะทำให้สามารถถ่ายภาพสมองสามมิติที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยแผนที่สามมิติจากโครงการนี้จะเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกประเทศทั่วโลกนำไปใช้ประโยชน์ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกร กล่าว