(16 ธ.ค.64) เวลา 09.30 น. นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเร่งรัดและติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองลาดพร้าว โดยมี นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตห้วยขวาง สำนักงานเขตวังทองหลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักงานเขตห้วยขวาง
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากบริเวณเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง ไปทางประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ โดยว่าจ้างบริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้างเหมาดำเนินโครงการก่อสร้าง เริ่มต้นสัญญาวันที่ 15 ม.ค.59 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 22 ส.ค.64 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 2,047 วัน โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองลาดพร้าว มีพื้นที่โครงการก่อสร้างทั้งหมด 40,810 ม. ปัจจุบันได้ส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างให้ผู้รับจ้างแล้ว 26,008 ม. คิดเป็น 63.70% สามารถดำเนินการตอกเสาเข็มได้ 32,320 ต้น แนวเขื่อนที่ตอกเสาเข็มแล้ว ความยาว 24,030 ม. คงเหลือแนวเขื่อนที่ยังไม่ได้ตอกเสาเข็มอีก 1,978 ม. รวมผลงานทั้งโครงการทำได้ 55.50% แผนงานโดยรวมทั้งโครงการ 100% ส่วนพื้นที่โครงการที่ยังไม่สามารถส่งมอบให้ผู้รับจ้างได้ ความยาว 14,802 ม. คิดเป็น 36.30% เนื่องจากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากยังมีผู้รุกล้ำที่ไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเจรจาทำความเข้าใจ ควบคู่กับการใช้มาตรการด้านกฎหมาย อีกทั้งผู้รับจ้างทำงานในพื้นที่ที่ส่งมอบแล้วล่าช้า ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำติดตามและเร่งรัดการทำงานของผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่อง สำนักงานเขตในพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการดังกล่าว เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองลาดพร้าว แบ่งการก่อสร้างออกเป็นพื้นที่ 8 สำนักงานเขต โดยแผนการทำงาน ประกอบด้วย การตอกเสาเข็ม ติดตั้งแผงกันดิน ก่อสร้างทางเดินหลังเขื่อน ติดตั้งราวกันตก และขุดลอกคลอง ซึ่งในพื้นที่ก่อสร้างที่ประชาชนในชุมชนได้ให้ความร่วมมือในการรื้อย้ายบ้านเรือนออกไป ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมทั้งขุดลอกคลองลาดพร้าว ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ในการรองรับน้ำได้มากขึ้น
เมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองลาดพร้าวแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นโครงการนำร่องต้นแบบในการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในคลองอื่นๆ สามารถช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เพิ่มประสิทธิภาพในการลำเลียงและระบายน้ำ นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าว ได้มีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองลาดพร้าว ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดและสวยงาม ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษน้ำเน่าเสีย ซึ่งจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมรอบตัวดีขึ้น อันเป็นการก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ประชาชน
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองลาดพร้าว เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคลองลาดพร้าวและคลองสอง ถือเป็นคลองหลักที่มีความสำคัญทางด้านการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีความกว้าง 18-80 ม. ความยาว 22 กม. รองรับน้ำจากตอนบนของกรุงเทพมหานคร บริเวณอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ไหลผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 8 สำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตสายไหม เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตลาดพร้าว เขตห้วยขวาง และเขตวังทองหลาง อีกทั้งเป็นคลองที่ต่อเชื่อมระหว่างคลองหกวาสายล่างกับคลองแสนแสบ ซึ่งมีอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหง) ทำให้เป็นคลองที่มีศักยภาพสูง หากได้รับการพัฒนาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น
—–