เครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันตก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่องสู่กิจกรรมออกพรรษาลาเหล้า โดยการนำกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน..สร้างสุข-ลดทุกข์ มาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากจะหยุดดื่มได้อย่างต่อเนื่องแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่ตัดสินใจเลิกเหล้าอย่างถาวรพบว่ากระบวนการนี้ยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วมโครงการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 3 มิติด้วยกัน คือ สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดีส่งผลให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้น และสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้นอีกเช่นกัน ทั้งนี้ สคล.นำร่องโมเดลสร้างคนต้นแบบคุณภาพชีวิตดีใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้นวางแผนขยายไปยังอีก 6 จังหวัดของเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันตก
นางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง (พี่ป้อม) ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้า ภาคตะวันตก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า กระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน..สร้างสุข-ลดทุกข์ เริ่มต้นจากที่เราได้มีโอกาสได้ทำงานเรื่องของอาชีวะอนามัยกับเครือข่ายจังหวัดสุพรรณบุรี เห็นกระบวนการสร้างสุข-ลดทุกข์ ที่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนที่เข้าร่วมกระบวนการมีสุขภาพที่ดีขึ้น จึงชักชวนเข้าร่วมทำงานกับเครือข่ายงดเหล้าเพราะเหล้าก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพและยังเป็นต้นเหตุในอีกหลายๆปัญหาตามมา เริ่มที่โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาโดยผ่านกระบวนการสร้างสุข-ลดทุกข์ ซึ่งในการดำเนินงานภายใต้กระบวนการนี้ จะมีข้อมูลของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งเรื่องของสุขภาพ ภาระหนี้สิน มีการให้ทำแผนสำหรับตนเองเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลิกเหล้าและเรื่องอื่นๆ ในช่วง 3 เดือน 6 เดือนจะทำอะไรบ้างและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ปลดหนี้จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ปลดหนี้ได้ เป็นต้น
ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมกระบวนการนี้ ไม่เพียงแต่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีสุขภาพกายใจดีขึ้นแล้วความสัมพันธ์และเศรษฐกิจภายในครอบครัวยังดีขึ้นด้วย เหตุนี้ เราเห็นโอกาสในการต่อยอดขยายผลไปสู่กลุ่มอื่นๆ จึงหนุนเสริมให้กลุ่มคนเลิกเหล้าที่ผ่านกระบวนนี้โดยยกระดับให้เป็นแกนนำ เป็นนักส่งเสริมสุขภาวะ ชักชวนคนเข้ากระบวนการ โดยตนเองเป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเลิกเหล้า เพื่อสร้างแรงจูงในการชวนเพื่อนเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ยังคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กำลังใจและให้คำแนะนำในทุกปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรคและสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางแผนไว้ โดยเป็นลักษณะของเพื่อนช่วยเพื่อน เบื้องต้นตั้งเป้าให้ได้พี่เลี้ยงต้นแบบชวนเลิกเหล้า 20 คน ใน 10 ชุมชน จาก 2 จังหวัด และให้ชวนเพื่อนเข้าร่วมกิจกรรมแบบ 1:1 รวมเป็น 40 คน จากนั้นภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการจะนำมาถอดบทเรียนนำผลสรุปที่ได้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆต่อไป
ด้านนายภัทรพงษ์ กิตติวิริยะพันธ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้า จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าถึงขบวนการชวนเลิกเหล้าโดยยกตัวอย่างของชุมชนบ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ว่า เบื้องต้นจะเป็นการชวนคิด ชวนคุย ให้รู้ถึงสาเหตุของปัญหา เพื่อให้เกิดการยอมรับ และผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยจะไล่เรียงไปตั้งแต่ผลกระทบที่เกิดกับตนเอง ครอบครัว และสังคม ก่อนจะนำไปสู่แผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นใช้เวลา 1 วันในการทำให้เขาเปิดใจ เริ่มตั้งแต่การตรวจสุขภาพ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรค NCDs (กลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้) ต่อด้วยกระบวนการสร้างสุข-ลดทุกข์ โดยก่อนเริ่มกระบวนการจะมีการทำแบบประเมินวัดระดับความเครียดของกรมสุขภาพจิต เพื่อหาสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้น นำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ปัญหา มีปัญหาอะไรบ้างและส่งผลกระทบอย่างไร โดยพี่เลี้ยงจะคอยให้กำลังใจ เช่น พี่เลี้ยงอาจยกตัวอย่างตนเองที่เคยติดเหล้าหนักแต่ก็ยังสามารถเลิกได้เพราะฉะนั้นเขาก็ทำได้เช่นกัน เมื่อเขาเปิดใจก็จะเริ่มยอมรับและยอมเข้าสู่แผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยในแผนนั้นจะเป็นแบบฟอร์มให้กำหนดเองว่า เขามีเป้าหมายอะไร วัตถุประสงค์ (ทำเพื่ออะไร) กิจกรรมหลัก (ทำอะไร) กระบวนการและขั้นตอน(รายละเอียดในการทำ) กลุ่มเป้าหมาย(ทำกับใคร) ทำเมื่อไหร่ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อมีอะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น(ปริมาณ+คุณภาพ) จากนั้นก็จะทำบันไดชีวิต 6 ขั้น หมายถึง เดือนที่ 1 – 6 กำหนดรายละเอียดของสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละเดือนพร้อมทั้งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการทำกิจกรรมนั้นๆด้วย จะเป็นการวางแผนในการเดินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ เป้าหมายอาจไม่ได้มีเพียงการเลิกเหล้าเพียงอย่างเดียว เช่น การลดภาระหนี้สิน ลดปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพ ฯลฯ ในแต่ละเป้าหมายที่วางไว้ก็จะมีกระบวนการและรายละเอียดในการดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยพี่เลี้ยงจะคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาอุปสรรคใด พี่เลี้ยงก็จะคอยช่วยเหลือพร้อมสร้างกำลังใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้
ด้านนายเงิน นุชสำอางค์ และนางสมพิศ ยิ้มหลาย (พี่พิศ) ชาวบ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สองสามีภรรยาซึ่งมีอาชีพรับจ้าง เป็นคู่ตัวอย่างที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครบใน 3 มิติอย่างชัดเจนหลังจากสามีเลิกดื่มเหล้า เดิมนั้นทั้งคู่มีปัญหาครอบครัวทั้งเรื่องความรุนแรง ภาระหนี้สิน โดยเฉพาะสุขภาพของสามีที่ย่ำแย่จากการดื่มหนัก จึงตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสามารถเลิกเหล้าได้ในที่สุด ทั้งคู่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจที่สุดเมื่อปัญหาร้ายๆอันเกิดจากการดื่มเหล้าได้อันตรธานหายไปจากครอบครัว และเงินที่ต้องใช้จ่ายไปกับน้ำเหล้าก็ปรับเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินใช้จ่ายภายในครอบครัว ส่งผลทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นมีเงินเหลือกินเหลือเก็บ ปัจจุบันทั้งคู่เริ่มมีทรัพย์สินเป็นของตนเองบ้างแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ รอยยิ้มอย่างมีความสุขของคนในครอบครัว
“หลังสามีเลิกเหล้าครอบครัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันเรามีเงินเก็บกันบ้างแล้ว ในแต่ละวันที่ได้ค่าจ้างมาก็เอาเงินมารวมกัน หักค่าใช้จ่ายเหลือก็เก็บไว้ สามีเลิกเหล้าเมื่อกรกฎาคมปี 63 เงินค่าแรงก็ไม่ต้องไปเป็นค่าเหล้าแล้ว ครอบครัวมีความสุขมาก เงินที่เคยเป็นค่าเหล้าก็กลับมาเป็นรถอีแต๊ก 1 คัน มีที่ดิน 1 งานใบโฉนดเป็นชื่อของเราเรียบร้อยแล้ว มีบ้านเป็นของตนเอง และยังเก็บเงินซื้อทองได้อีก 1 บาท อยากเชิญชวนคนที่ยังติดเหล้า ถ้าเลิกได้ก็เลิกเถอะคะ เราอยากเห็นครอบครัวอื่นมีความสุขแบบครอบครัวเรา ดีใจมากที่สามีเลิกเหล้าได้ ทำให้ครอบครัวเรามีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ได้กินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน ทุกอย่างดีขึ้นหมดเลย” พี่พิศกล่าวในตอนท้ายด้วยสีหน้าเบิกบาน