14 ธันวาคม 2564 : ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 พร้อมด้วย ศ.ปริญญา จินดาประเสริฐ ประธานคณะกรรมการฯ นายพันธ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากกองทัพบก เข้าร่วมหารือ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลันขอนแก่น
การประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ โดย สป.อว. ได้ดำเนินจัดทำโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ ซึ่ง ในปี 63 มีการจัดสรรทุนทั้งสิน จำนวน 18 ทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผลโครงการ โดยคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้ปิดโครงการแล้ว จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแขนเทียมกลหยิบจับสิ่งของได้สำหรับกำลังพลผู้ได้รับบาดเจ็บโดยการควบคุมแขนเทียมชีวสัญญาณ ของ รศ.พีระพงษ์ อุฑารสกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โครงการพัฒนารูปแบบชุดพ่วงลาก ระบบกักเก็บพลังงานแบบลิเธียม ขนาด 10 kWh ร่วมกับเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ได้ สำหรับรถ UNIMOG และภารกิจของทหาร ของ ผศ.ยศธนา คุณาทร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาเจลลี่เพื่อรับประทานที่มีพลังงานสูงจากแหล่งสารอาหารที่มีคุณภาพ ของ ศ.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งการดำเนินการในโครงการดังกล่าวในขั้นต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานของกองทัพเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในทางการทหารและในเชิงพาณิชย์ นับว่าความสำเร็จของโครงการทั้งหมดที่กล่าวมาและโครงการต่างๆ ที่กำลังร่วมกันพัฒนา จะสามารถตอบโจทย์ของ อว. ในด้านของการมุ่งพัฒนาอาจารย์นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของไทย และกองทัพในการพัฒนายุทโธปกรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันต้องมีการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ด้านการป้องกันประเทศจากต่างประเทศ ซึ่งงบประมาณในการจัดหาและซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง สป.อว. จึงได้ร่วมมือกับกองทัพเพื่อสนับสนุนอาจารย์นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไทย ในด้านของการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนางานวิจัย การอำนวยความสะดวกของกองทัพด้านการกำหนดโจทย์การวิจัยและพัฒนา อำนวยความสะดวกด้านกฎหมายยุทธภัณฑ์ รวมถึงสถานที่ในการทดสอบยุทโธปกรณ์ และที่สำคัญโครงการต่างๆ ที่ได้ร่วมกันพัฒนาจะสำเร็จนั้นต้องตอบโจทย์กองทัพ ทุกฝ่ายต้องบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อไปในอนาคต