“ สกสว. จับมือเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสนอการศึกษาทิศทางอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของไทย พร้อมบรรยายพิเศษการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอาหารไทย ”
วันที่ 13 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ British Council ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Foresight into the BCG Economy เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการวางนโยบาย ยุทธศาสตร์ และทิศทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ซึ่งในวันนี้มีการนำเสนอผลการระดมความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนถึง Key Drivers & Trends ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต
ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการฝ่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. ได้นำเสนอข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทยจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 16-17 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อ BCG ด้านอาหารแห่งอนาคต ซึ่งผลที่ได้ในเบื้องต้นพบว่ามี 53 ปัจจัยที่ผลักดัน (Driver) การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของผู้บริโภค นโยบายจากภาครัฐ การค้าระหว่างประเทศ และโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป โดยปัจจัยที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและส่งผลกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้บริโภคมีความสนใจในเรื่องนวัตกรรมออกแบบอาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Food) เพิ่มมากขึ้น
ทางด้าน ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ Brands and Sustainable Food Production & Consumption เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้เข้าใจถึงการสร้างแบรนด์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม โดยการสร้างแบรนด์นั้น จะทำให้เรารู้จักสินค้า รู้จักตัวเอง แล้วจะสามารถนำไปใช้ในการวาง Roadmap การพัฒนาสินค้าต่อไปได้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากที่โควิด-19 แพร่ระบาด การสร้างแบรนด์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเน้นหลัก 3P คือ กำไร (Profit) บุคคล (People) และโลก (Planet)
หลังการประชุมในวันนี้ จะมีกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องอีก 3 ครั้งช่วงต้นปี 2565 โดยจะเชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านการทำ Foresight จาก Cranfield University ประเทศอังกฤษ มาร่วมจัดกิจกรรม โดยเน้นการนำเครื่องมือเกี่ยวกับ Foresight มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้มข้น ซึ่งผลที่ได้จากทุกกิจกรรมจะถูกนำมาใช้ในการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) จัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย รวมถึงการกำหนดโจทย์วิจัยสำคัญของประเทศต่อไป