กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียนความสำเร็จ การดำเนินงานโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ล่าสุดมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่ 2 ล้านกว่าคน หรือร้อยละ 76.19 โดยให้ อสม. 1 คน ชวนประชาชนในพื้นที่เลิกบุหรี่ให้ได้อย่างถาวร อย่างน้อย 3 คน
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” มีเป้าหมายให้คนไทยเลิกบุหรี่ได้ 3 ล้านคน หรือมากกว่า ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่มิถุนายน 2559 สิ้นสุดในเดือน พฤษภาคม 2562 โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นผู้ขับเคลื่อน โดย อสม.1 คน ชวนประชาชนในพื้นที่อย่างน้อย 3 คน ลด ละ เลิกบุหรี่ตามวิถีชุมชน และสามารถเลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่างๆ และเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเด็ก เยาวชนและคนในชุมชน ซึ่งผลของการดำเนินงานตามโครงการฯ ในปี 2562 มีประชาชนสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,150,073 คน
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าจนถึงขณะนี้ มีประชาชนสมัครใจเข้าร่วมโครงการ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลด ละ เลิกบุหรี่ รวมทั้งสิ้น 2,285,808 คน คิดเป็นร้อยละ 76.19 และมีผู้เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 96,941 คน เป็นผลที่น่าพอใจ แม้ยังไม่ได้ครบตามจำนวน แต่ยังคงมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อทะลุเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการฯนี้ประสบความสำเร็จ ได้มีการสำรวจและเชิญชวน อสม. ผู้ซึ่งชักชวนประชาชนให้เลิกบุหรี่ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยหลังจากมีการสำรวจ อสม.ทั่วประเทศ จำนวน 1,039,729 คน พบว่ามี อสม.ที่สูบบุหรี่ จำนวน 27,467 คน ซึ่งมี อสม.ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 21,045 คน
“ โครงการฯ นี้ นอกจากต้องการให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่แล้ว ยังพบว่า การสูบบุหรี่ ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด โรคหัวและหลอดเลือด โรคมะเร็งปอด เป็นต้น ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.quitforking.com หรือผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ติดต่อได้ที่ 1600 Quit Line สายด่วน เลิกบุหรี่” นายแพทย์สุขุม กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูล จาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2558 พบว่าสถานการณ์การบริโภคบุหรี่ในประชากรไทย ในช่วงปี 2558 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 10.7 ล้านคนหรือร้อยละ 19.1 ของประชากร เยาวชนอายุ 15-18 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 7.9 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 7.8 ในปี 2560 และอัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงในทุกกลุ่มยกเว้น กลุ่มอายุ 19-24 ปี ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.2 ในปี 2558 เป็น 20.4 ในปี 2560 โดยเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าเพศหญิง