กีวีเป็นไม้ผลเขตหนาว อยู่ในวงศ์ ACTINIDIACEAE ในบ้านเราที่นิยมบริโภคจะเป็นกีวีชนิดที่มีเนื้อผล สีเขียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia deliciosa (A. Chev.) C.F. Liang et A.R. Ferguson var. deliciosa และกีวีที่มีเนื้อผลสีเหลืองทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Actinidia chinensis Planch. กีวีเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์กับร่างกาย เพราะเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ มีวิตามิน ซี อี และเค สูง ในผลกีวีมีสารกลุ่มฟีโนลิก (phenolic) กลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีงานวิจัยว่าการรับประทานกีวีวันละ 2-3 ผล สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต ช่วยระบายลดอาการท้องผูก ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เพิ่มระดับวิตามินซีในกระเเสเลือด ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแม้ว่ากีวีจะมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีรายงานการแพ้กีวีเช่นกัน เพราะในผลกีวีมีสารชื่อว่า แอคตินิดิน (actinidin) ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้
เมื่อก่อนกีวีจะมีราคาค่อนข้างสูงเพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันนี้สามารถปลูกได้ทางภาคเหนือของไทยที่สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ทำให้ราคากีวีลดลงและคนไทยสามารถบริโภคกันได้มากขึ้น ซึ่งกีวีเป็นผลไม้มีคุณค่าทางอาหารมากโดยเฉพาะวิตามินซี นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ กล่าวคือกีวีเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ มีวิตามินซี อี และเค สูง และโปแตสเซียมสูง (1) ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 คุณค่าทางโภชนาการของผลกีวี /100 กรัม อาหาร สารอาหาร /100 กรัม | A. deliciosa | A. chinensis |
น้ำ (กรัม) | 83 | 82 |
พลังงาน (กิโลแคลอรี) | 61 | 63 |
โปรตีน (กรัม) | 1.14 | 1 |
ไขมัน (กรัม) | 0.52 | 0.28 |
คาร์โบไฮเครต (กรัม) | 14.7 | 15.8 |
น้ำตาล (กรัม) | 9 | 12.3 |
เส้นใย (กรัม) | 3 | 1.4 |
วิตามิน | ||
วิตามิน C (มิลลิกรัม) | 92.7 | 161 |
วิตามิน B1 (มิลลิกรัม) | 0.027 | 0 |
วิตามิน B2 (มิลลิกรัม) | 0.025 | 0.074 |
ไนอะซิน (มิลลิกรัม) | 0.341 | 0.231 |
วิตามิน B6 (มิลลิกรัม) | 0.063 | 0.079 |
โฟเลท (ไมโครกรัม) | 25 | 31 |
วิตามิน B12 (ไมโครกรัม) | 0 | 0.08 |
วิตามิน A (ไมโครกรัม) | 4 | 1 |
วิตามิน E (มิลลิกรัม) | 1.46 | 1.4 |
วิตามิน K (ไมโครกรัม) | 40.3 | 6.1 |
แร่ธาตุ | ||
แคลเซียม (มิลลิกรัม) | 34 | 17 |
เหล็ก (มิลลิกรัม) | 0.31 | 0.21 |
แมกเนเซียม (มิลลิกรัม) | 17 | 12 |
ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) | 34 | 25 |
โปแตสเซียม (มิลลิกรัม) | 312 | 315 |
โซเดียม (มิลลิกรัม) | 3 | 3 |
สังกะสี (มิลลิกรัม) | 0.14 | 0.08 |
แมงกานีส (มิลลิกรัม) | 0.098 | 0.048 |
สารสำคัญ
สารสำคัญในผลกีวีส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มฟีโนลิก (phenolic) ได้แก่ อนุพันธุ์ของกรดคูมาริก (coumaric acid) กรดคาเฟอิก (caffeic acid) กรดคลอโรเจนิก (chlorogenic acid) และกรดไฮดรอกซีเบนโซอิก (hydroxybenzoic acid) เป็นต้น สารกลุ่มฟลาโวนอยด์กลัยโคไซด์ (flavonoid glycosides) ได้แก่ กลัยโคไซด์ของเคอร์ซิติน (quercetin) และแคมเฟอรอล (kaempferol) (2) และมีกรดอะมิโน 16 ชนิด ซึ่งกรดอะมิโนจำเป็นตัวที่มีปริมาณ 25% ของปริมาณกรดอะมิโนทั้งหมด ได้แก่ เฟนนิลอลานีน (phenylalanine) ลูซีน (leucine) เมทธิโอนีน (methionine) ไอโซลูซีน (isoleucine) วาลีน (valine) และ ไลซีน (lysine) แต่กรดอะมิโนจำเป็นที่มีมากที่สุด (ประมาณ 50 % ของกรดอะมิโนทั้งหมด) ได้แก่ ฮีสติดีน(histidine) อาร์จินีน (arginine) ทรีโอนีน (threonine) (3) นอกจากนี้ ในผลกีวีมีวิตามินซี สารแคโรทีนอยด์ และมีสารแอคตินิดิน ซึ่งทำให้เกิดการแพ้ได้ (4, 5)
การศึกษาทางคลินิก
มีรายงานการศึกษาของกีวีเนื้อผลสีเขียว และกีวีสีทองพบว่ามีประโชน์ต่อร่างกาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซี อี และเค โฟเลต แคโรทีนอยด์ โปแตสเซียม เส้นใยอาหาร ที่มีประโยชน์กับร่างกาย (6) นอกจากนี้ ยังมีผลเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิด HDL ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (7-8) ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (9-11) ช่วยระบายทำให้ขับถ่ายสะดวก (12-16) และเป็นแหล่งรวมสารต้านอนุมูลอิสระ (17-18)
อันตรกิริยาของกีวีกับยาแผนปัจจุบัน และสมุนไพร
เนื่องจากกีวีมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ดังนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดไหลไม่หยุดหากใช้ร่วมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เช่น กระเทียม ขิง แปะก๊วย ขมิ้นชัน โสมเกาหลี เป็นต้น และการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด หรือยาละลาย ลิ่มเลือด เช่น aspirin, clopidogrel (Plavix®), dalteparin (Fragmin®), enoxaparin (Lovenox®), heparin, ticlopidine (Ticlid®), warfarin (Coumadin®) เป็นต้น
นอกจากนี้ กีวีมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตจึงอาจเสริมฤทธิ์ลดความดันโลหิตเมื่อรับประทานร่วมกับสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น น้ำมันปลา (fish oil), co-enzyme Q-10, สาร theanine ที่พบมากในผลิตภัณฑ์ของชาเขียว เป็นต้น และยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น captopril (Capoten®), enalapril (Vasotec®), losartan Cozaar®), valsartan (Diovan®), diltiazem (Cardizem®), amlodipine (Norvasc®) เป็นต้น เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ (19)
ข้อควรระวัง
มีรายงานการแพ้ในผู้ป่วยอายุ 26 ปี ที่ไม่มีประวัติการแพ้มาก่อน เมื่อรับประทานกีวีครั้งแรก ประมาณ 2-3 นาที ผู้ป่วยมีอาการคัน จากนั้น 2-3 เดือน ผู้ป่วยรับประทานกีวีอีกครั้ง พบว่าผู้ป่วย มีอาการคัน และตามด้วยอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียน และผิวหนังมีผื่นเหมือนลมพิษ และเมื่อวัดระดับ IgE มีค่าเท่ากับ 187 IU/ml เมื่อทดสอบอาการแพ้อาหารทางผิวหนัง (skin test) โดยให้สูดดมอาหาร พบว่าให้ผลลบ คือไม่มีอาการแพ้ แต่เมื่อให้สูดดมสารสกัดกีวี พบว่าให้ผลบวกอย่างมาก และการทดสอบการแพ้อื่นๆ ให้ผลลบ จึงสามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ แพ้กีวีอย่างแน่นอน (20) ซึ่งมีงานวิจัยอีกหลายฉบับเกี่ยวกับการแพ้กีวี (21-24) และสารสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้คือสาร actinidin (14-17) ซึ่งมีหลายอนุพันธุ์ ตั้งแต่ actinidin 1 – actinidin 11 (24) ซึ่งผู้ที่แพ้กีวีและมีผลต่อการกระตุ้นภูมิต้านทานชนิด IgE ส่วนใหญ่จะแพ้ ฝุ่นละอองเกสรของพวกต้น birch อะโวคาโด และแพ้ยางไม้ (latex) ด้วย (19, 24)
สำหรับบางคนเมื่อรับประทานกีวีเข้าไปแล้วจะรู้สึกคันคอ คันปาก คันลิ้น ซึ่งระดับความรุนแรง จะต่างกัน บางคนไม่มีอาการใดๆ อาการคันเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลึกแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) ที่สะสมอยู่ในเซลล์ของผลกีวีซึ่งอยู่ในรูปเข็มรวมกันเป็นมัดเรียก raphides ซึ่งกีวีเป็นผลไม้ที่มีปริมาณผลึกชนิดนี้ สูงมาก จะเป็นขีดสีขาว ๆ อยู่บนเนื้อผล ผลึกรูปเข็มเหล่านี้ อาจทิ่มแทง และทำให้เกิดการระคายเคืองตามเยื่อบุภายในช่องปาก และลำคอ นอกจากนี้ มีรายงานว่ากีวีเป็นผลไม้ที่มีเอนไซม์โปรติเอส (protease) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนสูงเหมือนในสับปะรด เพราะฉะนั้นหากเยื่อบุของเราโดนผลึก calcium oxalate แทงเข้าไปก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้โปรติเอสที่อยู่ภายในเนื้อผลนั้นสามารถย่อยโปรตีนของเราได้ง่ายขึ้น ยิ่งทำให้เรารู้สึกคันปาก แสบปากมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาบางคนรับประทานกีวีหรือสับปะรดมากๆ จึงเกิดอาการแสบปาก แสบคอ แสบลิ้นได้ ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวต้องหลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทาน (25)
บทสรุป
จากข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากีวีเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ มากคุณค่าสาหรับสุขภาพ ให้พลังงานต่ำ มีวิตามินซี อี และเค สูง ซึ่งในประเทศไทยสายพันธุ์ที่นิยมบริโภค คือ กีวีที่มีเนื้อผลสีเขียว และ กีวีสีทอง ในผลกีวีมีสารกลุ่มฟีโนลิก กลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งกรดอะมิโนจำเป็นมากมายหลายชนิด จากการศึกษาทางคลินิกพบว่ากีวีมีผลในการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิด HDL ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยระบายทำให้ขับถ่ายสะดวก และเป็นแหล่งรวมสารต้านอนุมูลอิสระ จะเห็นว่ากีวีมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อย่างไรก็ตามมีรายงานการแพ้ กีวีเพราะมีสารชื่อว่าแอดตินิดิน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ นอกจากนี้ การรับประทานผลกีวีอาจทำให้เกิดอาการคันภายในช่องปากเนื่องจากมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต และเอนไซม์โปรติเอส
ขอบคุณข้อมูลจาก MED HERB GURU พนิดา ใหญ่ธรรมสาร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล