กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่าสับสนรับประทานไข่แมงดาที่มีพิษ เนื่องจากแมงดาทะเลมี 2 ชนิด ทั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ หลังรับประทานไปแล้วหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และชาบริเวณลิ้นหรือปาก ควรรีบพบแพทย์ทันที
วันที่ (23 กุมภาพันธ์ 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่สามารถหาแมงดาทะเลมารับประทานได้ง่าย ซึ่งหากประชาชนนำแมงดาถ้วยมาประกอบอาหาร เพราะคิดว่าเป็นแมงดาจานที่ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค อาจทำให้ได้รับพิษที่สะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย ซึ่งเป็นพิษที่ทนความร้อนได้สูงมาก การต้ม ทอด ปิ้ง หรือย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้แมงดาทะเลมี 2 ชนิดคือ แมงดาจาน หรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยม ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้มีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย และอีกชนิด คือแมงดาถ้วย ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ แมงดาทะเลหางกลม หรือเห-รา หรือแมงดาไฟ จะมีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้ ลำตัวมีสีส้มหรือสีน้ำตาลเข้ม ขนาดเล็กกว่าแมงดาจาน อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน ซึ่งแมงดาถ้วยมีพิษชนิดเดียวกับปลาปักเป้า เป็นพิษที่เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของแมงดาถ้วย หรือเกิดจากการกินตัวแพลงก์ตอนที่มีพิษหรือกินหอยหรือหนอนที่มีแพลงตอนพิษ ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่
จึงขอย้ำเตือนประชาชนอย่าสับสน ระมัดระวังการกินไข่แมงดาในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ซึ่งมักพบการแพร่พันธุ์ของแพลงก์ตอนพิษจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่รับประทานเกิดอาการป่วยรุนแรงและเฉียบพลัน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า หากมีอาการมึนงง ชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาม มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด หลังจากรับประทานแมงดาทะเลประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่อยู่ของแมงดาทะเล ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ซึ่งผู้ที่รับประทานไข่แมงดาทะเล บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นอาจเสียชีวิตจากการหยุดหายใจได้ หากมีอาการดังกล่าวให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
*******************************************************
ข้อมูลจาก: ทีม SAT/ สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค