กรมวิทย์ฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาค เชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้โรคระบาดร้ายแรง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุม RPHL NETWORK ANNUAL PARTNERSHIP FORUM บนแนวคิด NETWORKING OF THE NETWORKS เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ เพลินจิต กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม และทางออนไลน์มากกว่า 100 คน จากเครือข่ายห้องปฏิบัติการสุขภาพคน ห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์ของประเทศสมาชิกอาเซียน และคณะทำงานและผู้แทนจากกลุ่มประเทศผู้นำวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda : GHSA) และประเทศสมาชิก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บังคลาเทศ แคนาดา เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี สหราชอาณาจักร เนปาล โปรตุเกส ตรินิแดดและโตเบโก และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เป็นต้น

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า จากการประชุมสุดยอดความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก เมื่อปี 2557 ได้ให้ความสำคัญในเรื่องยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก 3 ด้าน คือ การป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้โรคระบาด ข้ามพรมแดน รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพของประเทศสมาชิก และสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในการดำเนินงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงที่จะเป็นผู้นำใน 2 กิจกรรม คือ Detect 1: National Laboratory System คือ กิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพและ สร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ (รับผิดชอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Detect 5 : Work force Development คือ พัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยา ทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรค (รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค)

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ และได้จัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคปีละ 1 ครั้ง และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด กับกลุ่มประเทศผู้นำวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แทนซาเนีย ยูกันดา แอฟริกาใต้ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนวาระความมั่นคงสุขภาพโลกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก จนกระทั่งในปี 2562 ได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ผ่านโครงการตรวจและเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อ (IDDS) ให้จัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค (Regional Public Health Laboratory Network (RPHL Network) เพื่อให้เกิดเครือข่ายห้องปฏิบัติการในระดับภูมิภาค และสามารถตอบโต้ภัยด้านสุขภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ (10 ประเทศอาเซียน และประเทศเนปาล) ทั้งนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทางเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือกันทางด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการประชุมเครือข่ายแบบออนไลน์ การจัดทำเว็บไซต์ของเครือข่าย www.therphl.net อีกทั้งได้ขยายความร่วมมือและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายในภูมิภาคอื่นๆ

“โดยการประชุมนี้เป็นการประชุมเนื่องในโอกาสที่เครือข่าย RPHL Network จากห้องปฏิบัติการด้านสุขภาพคน และห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์ ได้ดำเนินงานร่วมกันภายใต้วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ครบรอบ 2 ปี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของประเทศและภูมิภาค เพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้โรคระบาดร้ายแรงที่ถือเป็น ภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของมวลมนุษยชาติ และสอดคล้องกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

******************** 13 ธันวาคม 2564