เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 น.นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ให้กำลังใจนักศึกษาพัฒนากร รุ่นที่ 119 ฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ หลักสูตรพัฒนากรก่อนประจำการ รุ่นที่ 119 จำนวน 102 คน ณ วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห ผู้อำนวยการวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน นางประภา ปานนิตยกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ให้การต้อนรับ
นายสมคิด จันทมฤก กล่าวว่า “การฝึกอบรมของพัฒนากรก่อนประจำการ เป็นการสร้างศรัทธาเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าข้าราชการที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบลนั้น มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ดังนั้นการปฏิบัติงานของพัฒนากรใหม่ทุกคน จึงต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงาน มีความสามารถในการสร้างศรัทธาแก่ประชาชน หมั่นออกพบปะพูดคุยกับประชาชน และให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชน สามารถบริหารจัดการชุมชน โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้อย่างเหมาะสม สนับสนุนให้คนในชุมชนได้ร่วมแรงกันทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง เป็นประชากรที่มีคุณภาพ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข พัฒนาศักยภาพของประชาชนในการพึ่งพาตนเองได้ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ขอให้พัฒนากรก่อนประจำการทุกคนตระหนักว่า การอบรมและการลงฝึกปฏิบัติเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของพัฒนากรก่อนประจำการ ในการได้เรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับบทบาทภารกิจสำคัญ โดยนำองค์ความรู้ หลักการ และภาควิชาการไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ และนำไปปรับใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีไปสู่ชุมชน ทั้งนี้ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของกรมการพัฒนาชุมชน คือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ โดยยึดแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ส่งเสริมให้ทุกชุมชนอยู่อย่างพอเพียง ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และพัฒนากรทุกคน คือ กลไกสำคัญที่จะสานต่อปณิธานในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน และตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลของกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนากรก่อนประจำการต้องมีความตั้งใจในการใช้ชีวิตนักพัฒนาอย่างเข้มแข็ง อดทน ปรับตัวในสถานการณ์ที่แตกต่าง ยึดมั่นในระเบียบวินัย ให้เกียรติ อ่อนน้อม และเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากชุมชนและพัฒนากรรุ่นพี่ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การเป็นข้าราชการที่ดี และเป็นนักพัฒนาที่ยึดปรัชญา อุดมการณ์ หลักการ และกระบวนการพัฒนาชุมชนเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ต้องมีความมุ่งมั่น จริงใจ จริงจัง ผนึกกำลังร่วมกันสร้าง “ศรัทธาที่เดินได้” ขอให้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อสานต่องานพัฒนาชุมชนให้ต่อเนื่องและทำงานร่วมกับประชาชนด้วยความรักและความศรัทธาในพื้นที่ตลอดไป” อธิบดี พช. กล่าว
จากนั้นได้เยี่ยมชม “โคก หนอง นา วิถีชายฝั่งทะเล” วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน ซึ่งพื้นที่โคก หนอง นา วิถีชายฝั่งทะเล ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของ “โคก หนอง นา โมเดล” มีฐานเรียนรู้การปลูกต้นโกงกาง ปลูกข้าว ทำคันนาทองคำ ปลูกพืชผักสวนครัว ขุดสระ และการเลี้ยงปลาตามวิถีชายฝั่ง บนพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน เพื่อให้สอดรับกับภูมิสังคมแบบชายฝั่งทะเล และผสมผสานกับแนวทางการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร มุ่งเน้นให้เกิดองค์ความรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ นำไปสู่การเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทั่วไป สามารถนำไปปฏิบัติ ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง และใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” ประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล อันเป็นการส่งเสริม ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาชนมีความสุข