กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และตาก คุณภาพอากาศในภาพรวมเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสาน 7 จังหวัดดังกล่าว ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าและปัญหาหมอกควันปกคลุมพื้นที่
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 05.00 น. พบว่า ภาคเหนือมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ (ต.ช้างเผือก ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม) ลำปาง (ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง ต.บ้านดง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ) ลำพูน (ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน) แม่ฮ่องสอน (ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน) น่าน (ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน) แพร่ (ต.นาจักร อ.เมืองแพร่) ตาก (ต.แม่ปะ อ.แม่สอด) โดยมีค่า PM2.5 ระหว่าง 53 – 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 ระหว่าง 66 – 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 106 – 255 ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ช้างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 อยู่ที่ 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 255 และพื้นที่ ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM10 อยู่ที่ 116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 201 ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสาน 7 จังหวัดภาคเหนือดังกล่าว ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงได้จัดเจ้าหน้าชุดปฏิบัติการพร้อมด้วยเครื่องจักรกลสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรมให้กำหนดช่วงเวลา จัดระเบียบการเผา และประกาศเขตห้ามเผา ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป
———————————————————————–