รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันพัฒนาสมุนไพรไทยสร้างเศรษฐกิจ สู่สมุนไพรโลกเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรระดับสากล สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความเห็น (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 และบรรยายพิเศษ เรื่อง โอกาสและความท้าทาย “สมุนไพรสร้างเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19แม้ตลาดสมุนไพรได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันกลับขยายตัวอีกครั้ง โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีกระแสตอบรับที่ดี ทำให้มูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4.56 หมื่นล้านบาท แนวโน้มการเติบโตของสมุนไพรไทยในอนาคตยังมีโอกาสสูง เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และใช้รักษาควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทำให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับโอกาสและความท้าทายในการพัฒนาสมุนไพรไทยสู่สมุนไพรโลก ต้องมีการพัฒนาตั้งแต่ ต้นทาง โดยคัดเลือกสมุนไพรที่มีความจำเพาะของไทย พัฒนาสายพันธุ์/เมล็ดพันธุ์/มาตรฐานแปลงปลูก รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการของตลาด กลางทาง ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้มีความหลากหลาย ทันต่อความต้องการของตลาด และปลายทางสร้างความน่าเชื่อถือให้สมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักในหลากหลายรูปแบบ เช่น อาหารเป็นยา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น
“ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพแข่งขันด้านอุตสาหกรรมสมุนไพรในระดับสากล สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งการประชุมวันนี้จะช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินงานพัฒนาสมุนไพรไทยในอนาคต ทำให้มีการขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่อไป” ดร.สาธิตกล่าว
ด้านนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าในช่วงปี 2560 – 2562 ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวของตลาดสมุนไพรร้อยละ 10.3 ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีสัดส่วนของตลาดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดพร้อมดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาอาการไอ หวัด และแพ้อากาศ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 – 2565 ซึ่งกำลังจะครบวาระในปี 2565 จึงต้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ขึ้น โดยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
*********************************** 9 ธันวาคม 2564