กระทรวงสาธารณสุข เผย ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 3 รายอยู่ระหว่างรอผลตรวจอีก 1 ราย พร้อมยืนยันชุดตรวจ ATK ที่ใช้อยู่สามารถตรวจพบได้ทุกสายพันธุ์ และวิธีการตรวจหาสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจจับได้แม้มีการกลายพันธุ์เพิ่ม ซึ่งลักษณะการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงร่วมกับการแพร่เชื้อที่เร็วของโอมิครอน อาจเป็นตัวช่วยให้โควิด 19 ยุติได้เร็วขึ้น
วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า กระทรวงสาธารณสุขโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่าย ได้เฝ้าระวังตรวจสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 มาโดยตลอด ตั้งแต่มีการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน -8 ธันวาคม 2564 ทำการสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์ไวรัส รวม 1,645 ราย แยกเป็น จากผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักร 99 ราย และจากผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,546 ราย ตรวจด้วยวิธี SNP genotyping ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นเฉพาะตำแหน่งและเฉพาะยีนเพื่อหาลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์ไวรัส เมื่อสงสัยว่าเป็นสายพันธุ์ที่จับตามองจะส่งตรวจยืนยันด้วยวิธี Whole genome sequencing (WGS) เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งเกือบทั้งหมดพบเป็นสายพันธุ์เดลตาคือ 1,641 ราย ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนพบเพียง 4 ราย หรือไม่ถึง 1%
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพศหญิง 2 ราย ที่สงสัยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ผลตรวจยืนยันด้วยวิธี WGS พบว่าเป็นโอมิครอนจริง ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 3 ราย เป็นชาวอเมริกัน 1 ราย และชาวไทย 2 ราย ทุกรายเดินทางมาจากต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับตัวอย่างผู้ติดเชื้ออีก 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) ในระบบ Test & Go ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม ผลการตรวจเบื้องต้นสงสัยว่ามีโอกาสติดเชื้อโอมิครอน จึงนำตัวอย่างส่งตรวจหาสายพันธุ์ คาดว่าอีกประมาณ 2 วัน จะทราบผล ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้สอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสและอยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อรับการรักษาตามมาตรการ
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากข่าวที่พบการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โอมิครอน ขอยืนยันว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจจับได้จากการตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี SNP genotyping เมื่อพบตำแหน่งที่คล้ายกับเดลตา (S.T478K) อัลฟา (S.delHV69-70, S.N501Y) และเบต้า (S.K417N) ในตัวอย่างเดียวกันจะเข้าข่ายสงสัยเป็นโอมิครอน อย่างไรก็ตาม จะติดตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อย่างใกล้ชิดและหาวิธีการตรวจที่ครอบคลุม รวมทั้งจะนำตัวอย่างเชื้อโอมิครอนมาทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดต่าง ๆ เพื่อหาความสามารถในการจัดการของวัคซีนต่อโอมิครอนต่อไป
“ขอยืนยันว่าชุดตรวจ ATK ที่ใช้อยู่สามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้ แต่ต้องมีการเก็บตัวอย่างและตรวจให้ถูกวิธี รวมถึงมีการตรวจซ้ำ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ซึ่งประเทศไทยสุ่มตรวจพบเพียง 4 ราย จากกว่า 1,600 ราย ถือว่าน้อยมาก และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อที่รุนแรง ไม่มีคนเสียชีวิต จากสายพันธุ์นี้ อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดและวัคซีนยังเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด” นายแพทย์ศุภกิจกล่าว
*********************************** 9 ธันวาคม 2564